เศรษฐกิจไทย “ฟื้นตัว” แค่ภาพใหญ่? จับชีพจรภูมิภาค เปราะบางแค่ไหน ภาคเกษตรฉุด “อีสาน” ฟื้นช้าสุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจไทย “ฟื้นตัว” แค่ภาพใหญ่? จับชีพจรภูมิภาค เปราะบางแค่ไหน ภาคเกษตรฉุด “อีสาน” ฟื้นช้าสุด

Date Time: 31 ส.ค. 2567 13:36 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • เศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่ที่เริ่มฟื้นตัวเข้าสู่ระดับ "ศักยภาพ" อาจไม่ได้สะท้อนความเดือดร้อนของเศรษฐกิจ "ฐานราก" ที่ส่งสัญญาณเปราะบางขึ้นเรื่อย ๆ Thairath Money ชวนจับชีพจรเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคเติบโตแค่ไหน ภูมิภาคไหนน่ากังวลที่สุด

Latest


เดินทางมาถึงครึ่งปี 2567 แล้ว สำหรับเศรษฐกิจไทย แม้จะทำเอาใจหายใจคว่ำ เพราะโตต่ำ 1.5% รั้งท้ายอาเซียนในไตรมาสแรก แต่ก็กลับมาโตตามเป้าที่ 2.3% จากการบริโภคเอกชนและการท่องเที่ยวที่แบกหลังแอ่น แต่ก็ยังเป็นแรงส่งที่ไม่แรงพอ จนทำให้ GDP ไทยครึ่งปีแรก เติบโตแค่ 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะพลาดเป้าหมาย แต่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภคในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาอย่างช้า ๆ ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ก็ส่งสัญญาณให้คนไทยใจชื้นขึ้นมาบ้างว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เริ่มฟื้นตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพ ตามที่แบงก์ชาติประเมินไว้

แต่นั่นก็เป็นแค่เศรษฐกิจภาพใหญ่ อาจไม่ได้สะท้อนความเดือดร้อนของเศรษฐกิจฐานรากที่เริ่มส่งสัญญาณเปราะบางขึ้นเรื่อย ๆ Thairath Money ชวนจับชีพจรเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคเติบโตแค่ไหน ภูมิภาคไหนน่ากังวลที่สุด

ท่องเที่ยว-ส่งออก พยุงคนใช้จ่าย สู้หนี้ครัวเรือน

รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินภูมิภาคของแบงก์ชาติ พบว่า ในไตรมาส 2/2567 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวจากไตรมาสก่อน ยกเว้นภาคเหนือที่หดตัวลงเล็กน้อย จากการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงจากปัญหาค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเศรษฐกิจทั้ง 3 ภูมิภาค ยังเติบโตได้โดยได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ การส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการต่างประเทศ โดยผลผลิตเกษตรที่ลดลงผลักดันให้ราคาขายสูงขึ้น รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่เร่งขึ้น หลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้เมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนหดตัว โดยเฉพาะภาคอีสานที่หดตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการลงทุนด้านการก่อสร้างที่หดตัวอย่างต่อเนื่องจากยอดขายปูนซีเมนต์

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้เกษตรกรและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจะช่วยพยุงการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในไตรมาส 2/2567 แต่ยังต้องจับตากำลังซื้อโดยรวมของผู้บริโภคยังคงเปราะบางจากปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก ความสามารถในการแข่งขันของภาคผลิตไทยที่ถดถอยลง และผลกระทบของลานีญาที่มีต่อผลผลิตเกษตร

เศรษฐกิจอีสานฟื้นช้าสุด รอเงินภาครัฐต่อลมหายใจ

วรางคณา อิ่มอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคยังขยายตัวได้ ยกเว้นภาคอีสานที่จะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากมีผู้ประกอบอาชีพอิสระเยอะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ทำให้ผลผลิตเกษตรลดลง ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวน้อย เมื่อเทียบกับภาคเหนือและภาคใต้ เนื่องจากไม่ใช่ภูมิภาคที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว

โครงสร้างเศรษฐกิจภาคอีสาน แม้จะเปลี่ยนจากการเน้นทำเกษตรกรรมมาเป็นเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรมากขึ้น แต่ก็ยังพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรเป็นหลัก สะท้อนจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์ภาค (GRP) จำแนกตามสาขาเศรษฐกิจ ที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 21% ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนถึง 19% รองลงมาเป็นภาคการค้า 14%

นอกจากนี้ เงินลงทุนจากภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในภูมิภาค เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายภาครัฐจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง ในระยะข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจอีสานจะปรับดีขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เม็ดเงินลงมาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์