กังวลการเมือง ห่วงเศรษฐกิจฟื้นช้า ค่าครองชีพสูง กดความเชื่อมั่นลงทุน-ใช้จ่ายหด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กังวลการเมือง ห่วงเศรษฐกิจฟื้นช้า ค่าครองชีพสูง กดความเชื่อมั่นลงทุน-ใช้จ่ายหด

Date Time: 31 ส.ค. 2567 07:45 น.

Summary

  • ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.กลับมาผงกหัวขึ้นได้ตามการท่องเที่ยวที่ยังดีต่อเนื่อง ส่งออกที่ดีขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายของคนไทยยังไม่ฟื้น

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.กลับมาผงกหัวขึ้นได้ตามการท่องเที่ยวที่ยังดีต่อเนื่อง ส่งออกที่ดีขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายของคนไทยยังไม่ฟื้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนและการใช้จ่ายยังลดลงต่อเนื่อง โดยห่วงค่าครองชีพที่ยังสูง เศรษฐกิจฟื้นช้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองป่วน

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.ว่า กลับมาปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง หลังชะลอตัวลงไปในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากภาคต่างประเทศที่ดีขึ้นเป็นหลัก ทั้งการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยแล้วกว่า 23.1 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวรวมทั้งปี 28.2 ล้านคน นอกจากนั้น การส่งออกไม่รวมทองคำเดือน ก.ค.นี้ ปรับตัวดีขึ้น 11% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลต่อเนื่องให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นตาม โดยเพิ่มขึ้น 1.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 3.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นสูงถึง 6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้าง การนำเข้าสินค้าทุน ยอดจด ทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยล้วนเพิ่มขึ้นทั้งหมด ขณะที่ด้านการใช้จ่ายเดือน ก.ค.อยู่ในระดับทรงตัว โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.3% เทียบกับเดือนก่อนหน้า

“การใช้จ่ายหมวดบริการเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมขนส่งผู้โดยสาร ประกอบกับหมวดสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนลดลงตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หากมองในแง่ความเชื่อมั่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลด้านค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศ และเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำ รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจยังปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้า”

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนด้วยว่า ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง หลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 มีผลบังคับใช้ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาลและค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ รายจ่ายลงทุนขยายตัว จากการเบิกจ่ายลงทุนด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว

ด้านต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพียง 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเหลือ 900 ล้านเหรียญฯ ในเดือนนี้ และมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 15.8% ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 600 ล้านเหรียญฯ ภาคธุรกิจระดมทุนลดลงจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในธุรกิจกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มผลิตปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ขณะที่การระดมทุนผ่านสินเชื่อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนส่งและก่อสร้าง อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท.ติดตามใกล้ชิดและดูแลหากเกิดความผันผวนที่สูงเกินไป และเกิดขึ้นต่อเนื่อง

“ทิศทางเดือน ส.ค. กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรมที่ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง โดยต้องติดตามผลการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต รวมทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบต่อเสถียรภาพราคาและการค้าโดยรวม”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ