หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 90.8% ท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง กำลังฉุดรั้งขีดความสามารถของธุรกิจในประเทศ และกัดกินคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็น SMEs ทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมทยอยล้มหายตายจาก เนื่องจากปรับตัวไม่ทันเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป ประกอบกับธุรกิจต่างประเทศเข้ามาดิสรัป โดยเฉพาะธุรกิจจากจีนที่เข้ามาตีตลาดสินค้าไทยในหลายอุตสาหกรรม และปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ การขาดสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ SMEs ต้องแบกภาระหนี้สินสะสมตั้งแต่โควิด
ล่าสุดรายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2/2567 ของสภาพัฒน์ฯ แสดงความกังวลเพิ่มขึ้นต่อผลกระทบการจ้างงานหาก SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นแหล่งการจ้างงานมากถึง 70% ของการจ้างงานทั้งประเทศ และในปี 2566 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นสัดส่วนมากถึง 35.2% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน SMEs กำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ในไตรมาส 4/2566 เพิ่มขึ้น 7.2% จากระดับ 4.6% ในไตรมาส 1/2562
โดยเป็นผลมาจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและระดับหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ผู้บริโภครัดเข็มขัดการใช้จ่าย ขณะที่ธนาคารก็เข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ ต่อเนื่องไปยังความสามารถในการทำกำไร สะท้อนจากดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 15.1% และ 2.2% ตามลำดับ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลต่อเนื่องไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน SMEs ซึ่งจะฉุดกำลังซื้อในประเทศให้ตกต่ำลง
1. สินเชื่อหดตัวต่อเนื่อง
แม้การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกในระบบเศรษฐกิจไทยมานาน แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึง 16 ล้านล้านบาท และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทำให้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา สินเชื่อธุรกิจรายย่อยที่วงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาท หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ในไตรมาส 2/2567 อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ SMEs หดตัวที่ 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลัก ๆ มาจากการหดตัวในอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ปรับตัวไม่ทัน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพาณิชย์ ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ในไตรมาส 2/2567 แม้สัดส่วน SMEs ที่มีภาระหนี้จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 64.3% แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มกู้เงินไปใช้หมุนสภาพคล่องธุรกิจ และชำระหนี้เดิมมากขึ้น นอกจากนี้ในภาพรวม ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
2. โรงงานเล็กแห่ปิดตัว
ข้อมูลการแจ้งประกอบกิจการและปิดโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นเครื่องชี้หนึ่งที่สำคัญในการสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิต โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ค. 67) มีโรงงานเลิกประกอบกิจการแล้ว 667 แห่ง และมีโรงงานเปิดใหม่แจ้งประกอบกิจการแล้ว 1,260 แห่ง โดยอัตราการเลิกประกอบกิจการอยู่ที่ 54% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี และเมื่อหักลบโรงงานที่ปิดตัวลง ใน 7 เดือนแรกของปีนี้ จากยอดโรงงานใหม่ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 167,691 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 25,663 คน
แม้ข้อมูลในภาพรวม ดูเหมือนว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะยังเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากมียอดเปิดโรงงานใหม่มากกว่าโรงงานที่ปิดไป แต่เมื่อพิจารณาไส้ใน พบว่า โรงงานที่ปิดตัวไปส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า โรงงานที่ปิดตัวไปมีมูลค่าเงินลงทุนเฉลี่ยโรงงานละ 20 ล้านบาท ขณะที่โรงงานที่เปิดส่วนใหญ่มีมูลค่าเฉลี่ยแต่ละโรงงาน 170 ล้านบาท เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI)
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า SMEs ไทยมีเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิม ที่ต้องเผชิญกับต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้น สวนทางกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่น้อยลง ซึ่งหากทุกภาคส่วนไม่เร่งให้ความช่วยเหลือ ด้วยการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพการแข่งขัน หามาตรการป้องกันการทุ่มตลาด รวมถึงปลดล็อกการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในอนาคตอันใกล้ เราอาจเห็น SMEs หลุดจากซัพพลายเชน เมื่อโลกเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่อย่างเต็มตัว