สภาพัฒน์ รายงาน การรับร้องเรียนสินค้าและบริการ ในไตรมาสสอง ปี 2567 ของ สคบ. ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 5,517 เรื่อง ซึ่งแม้ลดลงจากปีก่อน 26.5% แต่ประเด็นปัญหาด้านขายตรงและตลาดแบบตรง ก็ยังคงมีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด รองลงมาเป็น ด้านฉลาก ด้านสัญญา และด้านโฆษณา
ขณะกลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับร้องเรียนสูงสุด คือ สินค้าออนไลน์ 2,022 เรื่อง ส่วนใหญ่มาจากการขอเงินคืนและการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากร้านค้า
ทั้งนี้ การผลักภาระให้กับผู้บริโภคกรณีซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผู้ซื้อต้องถ่ายวิดีโอขณะเปิดพัสดุ กลายเป็นประเด็นที่ต้องติดตามให้ความสำคัญ
หลังจากสถิติร้องทุกข์ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ปี 2567 พบว่า กว่า 42.4% ของเรื่องร้องเรียนด้านสินค้าและบริการทั่วไป เป็นปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์ รวมมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 27.8 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2567)
ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่ผู้บริโภคต้องเผชิญ คือ ปัญหาสินค้าชำรุด/ไม่ตรงปก/ไม่มีคุณภาพ และร้านค้ามักไม่รับผิดชอบหากผู้บริโภคไม่มีคลิปวิดีโอขณะเปิดพัสดุ ตลอดจนมีการเก็บค่าบริการเพิ่มเติม ทั้งที่สินค้าดังกล่าวอาจชำรุด/เสียหายก่อนถึงมือผู้บริโภค
โดยปัจจุบัน สคบ. ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 หรือที่เรียกว่า “มาตรการส่งดี” (Dee-Delivery) 24 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อคุ้มครองการซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทางให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น
โดยผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้า ก่อนชำระเงิน และสามารถขอคืนสินค้า/ขอเงินคืนได้ หากสินค้าชำรุด/เสียหาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปก ตลอดจนการหลอกลวงที่มาในรูปแบบเรียกเก็บปลายทางได้มากขึ้น
อีกประเด็นปัญหา คือ ผลจากบริการกู้ยืมเงินนอกระบบ ที่กำลังได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ อย่าง การจำนำ iCloud โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องฝากเครื่องไว้กับผู้ให้บริการ เพียงแค่ยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน และนำบัญชี iCloud ของผู้ให้บริการมาใส่ไว้ในเครื่องเพื่อเป็นการค้าประกัน
ซึ่งผู้ให้บริการสามารถล็อกเครื่องและเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลผ่านบัญชี iCloud ที่ลงชื่อเข้าใช้ไว้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ตั้ง รูปภาพ วิดีโอ เบอร์โทรศัพท์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มีการบันทึกไว้ภายหลังการจำนำ
ซึ่งอาจถูกนำไปใช้ในการหลอกลวง เอาเปรียบ หรือหาผลประโยชน์อื่นได้ เช่น ให้ลงชื่อเข้าใช้บัญชี iCloud ของผู้ให้บริการก่อน แต่ไม่ยอมให้เงิน หรือจ่ายคืนครบแล้ว แต่ยังมีการล็อกเครื่องเพื่อเรียกค่าไถ่ในการปลดล็อกต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการยังเสี่ยงต้องจ่ายดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยอัตราดอกเบี้ยของบริการจำนำ iCloud ส่วนใหญ่อยู่ที่ 7-25% ต่อเดือน สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยการทำสัญญาเงินกู้โดยทั่วไปตามกฎหมายที่อยู่ที่ 7.5-15% ต่อปี หรือคิดเป็น 1.25% ต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้น ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการรูปแบบดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงถูกหลอกลวงหรือเอาเปรียบได้
ที่มา : สภาพัฒน์
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney