สินเชื่อรายย่อย ดัน NPL พุ่งต่อ “หนี้เสียบ้าน” ลามกลุ่มรายได้สูงกว่า 3 หมื่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สินเชื่อรายย่อย ดัน NPL พุ่งต่อ “หนี้เสียบ้าน” ลามกลุ่มรายได้สูงกว่า 3 หมื่น

Date Time: 27 ส.ค. 2567 18:16 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • แบงก์ชาติ สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/2567 ฟาดกำไรรวม 76,000 ล้านบาท รายย่อยผิดนัดชำระหนี้ ดัน NPL พุ่ง
  • กังวล "หนี้เสียบ้าน" ลามกลุ่มรายได้มากกว่า 30,000 บาท แบงก์ขยับเกณฑ์หนี จับตลาดกลุ่มบน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2567 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัวชะลอลงที่ 0.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจโดยรวมทรงตัวที่ระดับ 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์


ขณะที่ สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่องที่ 5.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในอุตสาหกรรมพาณิชย์ ค้าส่งและค้าปลีก ยานยนต์และไฟฟ้า ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวชะลอลงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ชะลอลงที่ 0.8% โดยเฉพาะบ้านแนวราบ ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคลชะลอลงที่ 5.8%

ในขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิต หดตัวลง 0.2% เช่นเดียวกับสินเชื่อเช่าซื้อที่หดตัวหนัก 4.8% เนื่องจากคนชะลอการซื้อรถยนต์ ประกอบกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมซื้อรถยนต์


ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.84% โดยคุณภาพสินเชื่อด้อยลง จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยเฉพาะพอร์ตที่อยู่อาศัย เนื่องจากลูกหนี้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือช่วงโควิด กลับมาเป็นหนี้เสีย รวมถึงลูกหนี้บางรายที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่าเทียม โดยรายได้กระจุกตัวในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 


สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล โดย NIM ปรับเพิ่มขึ้น 3.04% ROA ปรับเพิ่มขึ้น 1.26% และ ROE ปรับเพิ่มขึ้น 9.44% ด้านกำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% มาอยู่ที่ 76,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 11.8% ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองปรับเพิ่มขึ้น 7.1% มาอยู่ที่ 51,000 ล้านบาท

“หนี้เสียบ้าน” ลามกลุ่มรายได้มากกว่า 30,000 


สำหรับความกังวลเรื่องหนี้เสียที่ปรับเร่งขึ้นจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.71% ในไตรมาส 2 สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน กล่าวว่า ธปท.มีความกังวลเกี่ยวสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลง โดยปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรายได้มากกว่า 30,000 บาท จากเดิมที่มีความกังวลในกลุ่มคนรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ในขณะที่อัตราอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ ปรับเกณฑ์ขั้นต่ำอนุมัติสินเชื่อ (cut off score) สูงขึ้น

แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจใหญ่ เสี่ยงหนี้ไหลเป็น NPL


สำหรับสินเชื่อ stage 2 ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ปรับเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่ธนาคารมีการปรับเกณฑ์คำนวณความเสี่ยงด้านเครดิต (Internal rating) เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจบางแห่งเริ่มมีผลประกอบการที่แย่ลง ขาดทุนเพิ่มขึ้น.  

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ