ขอละเว้นไม่พูดถึงเรื่องการเมืองที่ทุกฝ่ายต่างก็จ้องจับผิดนายกฯคนใหม่ แพทองธาร ชินวัตร กันทุกเม็ดจนทำให้คิดไปไกลว่า ประเทศไทยอาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝันอีกจนได้
เรื่องที่จะพูดถึงวันนี้ คือ เรื่องสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างมหาศาล หากรัฐบาลของ 2 ประเทศ คือ ไทยและกัมพูชา สามารถตกลงกันในประเด็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมีทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน
การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเข้าทำประโยชน์ในอ่าวไทยนี้มีมาตั้งแต่ปี 1970 หรือราว 54 ปีมาแล้ว ครั้งที่สองมีการเจรจาในปี 2001 ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
ครั้งนั้นมีการทำ “MOU 2544” หรือข้อตกลงสำหรับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแบ่งเขตแดน ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ โดยตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชาที่เรียกว่า JTC : Joint Technical Committee ขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน
แต่หลังทำข้อตกลงต่างๆ กันเป็นที่เรียบร้อย ก็เกิดมีเรื่องความบาดหมางกันระหว่างสองประเทศ และปัญหาการเมืองภายในที่ทำให้เกิดเรื่องราวยุ่งเหยิงขึ้น จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารที่ทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็นมานาน
นอกจากนี้ยังเกิดข้อพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งทำให้มีการข่มขู่กัมพูชาว่า จะยกเลิกข้อตกลง MOU 2544 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย
แม้จะมีความพยายามส่งสัญญาณให้รัฐบาลไทยรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา แต่รัฐบาลทหารของทั้งสองประเทศก็ยังแสดงความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงอยู่
นั่นทำให้เรื่องสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจของสองประเทศต้องหยุดชะงักไปยาวนาน กระทั่งรัฐบาลอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยเข้ามา
ผู้นำไทยและกัมพูชาจึงกลับมาหารือเรื่องนี้กันอย่างจริงจังอีกครั้ง ในขณะที่คณะทำงานอย่าง บริษัท ปตท.สำรวจ และผลิต (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน ต่างเห็นชอบร่วมกันว่าถึงเวลาที่ทั้งสองประเทศจะต้องตัดสินใจเรื่องนี้อย่างเด็ดขาดและจริงจังเสียที
เพราะหากปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปอีก แหล่งพลังงานที่มีอยู่ในอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบ ก็อาจจะค่อยๆหมดราคาไป โดยเฉพาะเมื่อโลกอนาคตต่างก็มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ
ทักษิณ ชินวัตร ไปพูดในงาน Vision for Thailand ของค่ายเนชั่นวันก่อนว่าเขตทับซ้อนทางทะเลที่เรียกกันใหม่ว่า OCA : Overlapping Claims Area คิดง่ายๆจะได้ว่า เขตแดนไทยลากออกไป 200 ไมล์ทะเล กัมพูชาลากยาวออกมา 200 ไมล์ทะเล บรรจบกันตรงไหนตรงนั้นคือพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งถ้ามีทรัพยากรทางทะเลอยู่ก็ให้แบ่งกันคนละ 50:50 เหมือนแหล่ง JDA ที่ทำกับมาเลเซีย
ถ้าเอาสมบัติล้ำค่าตรงนี้ออกมาใช้ประโยชน์จะทำให้คนไทยใช้ไฟฟ้าราคาถูก ใช้น้ำมันและก๊าซในราคาที่ต่ำกว่า อีกไม่เกิน 20 ปี แหล่งพลังงานที่มาจากฟอสซิลก็จะสูญเปล่าไปเฉยๆ
สมบัติล้ำค่าที่ว่านี้ คำนวณคร่าวๆได้ 10 ล้านล้านบาท...ทำประโยชน์ให้ประเทศไทยมหาศาล.
มิสไฟน์
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม