“เงินบาท” มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เปิดตลาดที่ 33.90 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เจอโรม พาวเวลล์ ส่งสัญญาณว่าช่วงเวลาแห่งการลดดอกเบี้ยได้มาถึงแล้วในการประชุมแจ็กสันโฮล (Jackson Hole) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยแข็งค่าใกล้เคียงกับระดับปิดในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับในช่วง 6 เดือนแรก ที่เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชีย และเป็นรองเพียงค่าเงินเยน ที่ 8%
ทั้งนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด
2. เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ผลักดันให้ราคาทองคำโลก ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
3. ทิศทางฟันด์โฟล์วของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยเห็นได้ชัดในตลาดพันธบัตร ทำให้ปัจจุบันสถานะขายสุทธิของต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทยน้อยลง
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จังหวะลดดอกเบี้ยของเฟดที่ตลาดยังให้น้ำหนักอยู่ จะเป็นปัจจัยกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก ถ้า sentiment ต่อดอลลาร์ยังไม่ฟื้น คาดว่าเงินบาท จะมีแนวรับถัดไปที่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าระดับปิดสิ้นปีจะอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการส่งออกไทย ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับระดับภูมิภาค โดยมีการแข็งค่าอยู่ในระดับกลาง อีกทั้งครึ่งปีหลัง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คาดว่าจะชะลอตัวลง จึงไม่กระทบขีดความสามารถการส่งออกของไทยมากนัก
ด้าน รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่า ตลาดคาดการณ์ไว้แล้วว่าเฟดจะอัตราลดดอกเบี้ย ในทุกรอบการประชุม เดือนกันยายน พฤศจิกายน และธันวาคม แต่ยังไม่แน่นอนในเรื่องของความเร็วในการลดอัตราดอกเบี้ยว่าจะอยู่ที่ครั้งละ 0.25% หรือ 0.5% ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงกว่าคาด มีโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ทั้งนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสั้น ถ้าไม่มีข่าวใหม่เข้ามา จะสร้างฐานใหม่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแกว่งอยู่บริเวณนี้เพื่อรอข่าวใหม่
สำหรับไตรมาส 4/2567 เงินบาทจะมีปัจจัยสร้างความผันผวนเพิ่มขึ้นมา คือการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน ซึ่งตลาดจับตามองทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการค้า คาดว่าจะหนุนให้เงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า คาดว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ไม่ผันผวนมากเหมือนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีคนใหม่
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney