นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/67 ว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สินในไตรมาส 1 รวม 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3% ในไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 90.8% ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหนี้ครัวเรือนที่ปรับลดลงมาจากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่ารวม 163,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 67 ตามข้อมูลเครดิตบูโรอยู่ที่ 8.5% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 สูงกว่าก่อนช่วงโควิด-19 (ไตรมาสที่ 4 ปี 62) ที่เคยอยู่ที่ 8% สะท้อนปัญหารายได้ของครัวเรือนที่อาจยังไม่ฟื้นตัว ภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เริ่มสิ้นสุดลง
สำหรับข้อเสนอของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ปรับลดการเก็บเงินสมทบกองทุนเพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 0.46-0.47% ลงครึ่งหนึ่งแล้วนำเงินที่เหลือไปช่วยลดหนี้ครัวเรือนให้กับประชาชนนั้น นายดนุชากล่าวว่า ต้องหารือกันระหว่างกระทรวง การคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่ามาตรการจะมีผลอย่างไรบ้างเมื่อออกมา โดยในส่วนนี้ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้
อย่างไรก็ตาม หนี้ของกองทุน FIDF ปัจจุบันมีการนำเงินที่เก็บจากสถาบันการเงินในส่วนนี้ไปใช้หนี้เงินต้นที่มีอยู่ ซึ่งหากลดเงินนำส่งลงก็จะทำให้การใช้เงินต้นในส่วนนี้ลดลง ทั้งนี้ หากจะใช้มาตรการนี้จริง สศช.มองว่าควรทำเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มแบบเจาะจง เช่น เป็นมาตรการที่ช่วยลูกหนี้ที่มีบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือหนี้รถที่ถือเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เป็นต้น โดยมาตรการลักษณะนี้ไม่ควรใช้เป็นการทั่วไป เพราะจะเกิดประเด็น Moral Hazard (จริยวิบัติ) เกิดขึ้นในสังคมได้
เลขาธิการ สศช.กล่าวต่อว่า ไตรมาส 2 ปี 67 การร้องเรียนเกี่ยวกับผู้บริโภคในภาพรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 25.6% โดยการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่านสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ลดลง 26.5 % และ 8.4% แต่ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การผลักภาระให้กับผู้บริโภค กรณีซื้อสินค้าออนไลน์ ที่ผู้ซื้อต้องถ่ายวิดีโอขณะเปิดพัสดุ ซึ่งกว่า 42.4% ของเรื่องร้องเรียนด้านสินค้าและบริการทั่วไปเป็นปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยหนึ่งในปัญหาสำคัญที่พบ คือ สินค้าชำรุด/ไม่ตรงปก ซึ่งร้านค้ามักไม่รับผิดชอบ หากไม่มีคลิปวิดีโอขณะเปิดพัสดุ และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการ
นอกจากนี้ยังพบรูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบที่หลากหลายเพิ่มขึ้น เข้าถึงง่าย และส่วนใหญ่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น ผ่อนบัตรคอนเสิร์ตผ่านร้านรับกดในแอปพลิเคชัน ×, ผ่อนเครื่องสำอางใน Line, ผ่อนอาร์ตทอยผ่าน Instagram, ผ่อนสัตว์เลี้ยงผ่าน TikTok อาจนำไปสู่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ความเคยชินในการจ่ายหนี้ รวมถึงมีความเสี่ยงมีหนี้สินพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่