เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ในงาน BOT Press Trip เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบประเด็นข้อสงสัยของสื่อมวลชน หลัง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ ธปท. ลดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุน ฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งจาก 0.46% เหลือ 0.23% เพื่อให้ธนาคารมีเงินมาช่วยแก้หนี้ประชาชนมากขึ้น ประเด็นดังกล่าวทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่า การสมทบเงินเข้ากองทุน FIDF กดดันให้ต้นทุนทางการเงินธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น จนชะลอการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสภาพคล่องในระบบการเงิน คนทั่วไปมักนึกถึงการเติบโตของสินเชื่อ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอลง ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจาก ธปท. ดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ ด้วยการให้ธนาคารพาณิชย์สมทบเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตรา 0.46% ของฐานเงินฝาก
แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ โดยจะประเมินความคุ้มค่าในการปล่อยสินเชื่อ จาก 2 ปัจจัย คือ 1. ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ 2. ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันการที่ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ไม่ได้เป็นผลมาจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง ทำให้การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตไม่คุ้มค่า ธนาคารจึงปล่อยสินเชื่อน้อยลง โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ sme
นอกจากนี้ การเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอลง ยังเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงวัฏจักร (cyclical factors) ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สินเชื่อจะชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การบริหารสภาพคล่องของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา มีจุดประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%
แม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวตามระดับศักยภาพที่ ธปท. ประเมินไว้ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำลังจับตาดูความเสี่ยง ระหว่างภาวะเศรษฐกิจและภาคการเงิน ซึ่งมีความเชื่อมโยงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากลูกหนี้มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แล้วธนาคารจะชะลอการปล่อยสินเชื่อ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เสถียรภาพการเงิน หากธนาคารประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าความเป็นจริง อาจส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวกว่าคาด กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้ เช่น สินเชื่อรถยนต์ที่หดตัวลงรุนแรง ซึ่งหากภาวะการเงินตึงตัวอย่างรุนแรง ธปท. จะทบทวนจุดยืนนโยบายการเงิน โดย “เปิดกว้าง (Open)” มากขึ้นที่จะปรับดอกเบี้ย
สำหรับกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางให้ ธปท. พิจารณาลดอัตราสมทบเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.23% เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะให้คำตอบ
โดย สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ชี้แจงว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF อัตรา 0.46% คิดเป็นมูลค่า 70,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อชำระดอกเบี้ยประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี จากยอดเงินต้นอยู่ที่ 580,000 ล้านบาท ณ เดือนสิงหาคม ทั้งนี้ จะมีการนำส่งคืนหนี้ แบ่งเป็น 2 งวดต่อปี ซึ่งจะมีการจ่ายหนี้งวดแรก ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะทำให้ยอดเงินต้นลดลง 550,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากมีการ ลดเงินนำส่งลงไปครึ่งหนึ่ง จะทำให้ปิดยอดหนี้คงค้างได้ช้าลง เนื่องจากต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาทต่อปี
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney