ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติ 6 เสียง ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆได้มีการประเมินแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยในระยะต่อไป โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ของธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แม้ ล่าสุด กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว แต่มองว่า กนง.ยังมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากช่วงครึ่งหลังปีนี้ เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงตามการปรับลดของความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการลงทุนภาคเอกชนแผ่วลง ขณะที่การตีตลาดของสินค้าจีนกระทบการผลิตในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่ปรับลดกว่าที่ กนง.ประเมินไว้ ซึ่งอาจเปิดช่องสำหรับ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะข้างหน้า
เช่นเดียวกับศูนย์วิจัย SCB EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่คาดว่า กนง.จะเริ่มลดดอกเบี้ยไตรมาส 4 ปีนี้ และจะลดอีกครั้งในไตรมาส 1 ปีหน้า เพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินในประเทศ หลังภาวะการเงินตึงตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความเปราะบางทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้แรงส่งเศรษฐกิจไทยจากอุปสงค์ในประเทศแผ่วลง ซึ่งจะเห็นชัดเจนขึ้นช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังเผชิญความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ทำให้นโยบายการเงินไทยจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามากขึ้น
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าการสื่อสารของ กนง.ในรอบนี้มีท่าทีอ่อนลง โดย กนง.ประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มชะลอลง และต้องติดตามว่า การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวแรงในไตรมาส 2 นั้น กนง.ให้ความสำคัญของการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน ในแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจมากขึ้น และ กนง. เริ่มให้ความสำคัญกับการติดตามความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจและภาวะการเงิน ซึ่งสะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่า ภาวะการเงิน ที่ตึงตัวขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจระยะต่อไป โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ส่งผลให้การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้น และอาจกระทบกิจกรรมเศรษฐกิจตามมา
ขณะที่กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยามองว่า การประชุม กนง.ครั้งต่อไป จะคงอัตราดอกเบี้ยต่อ โดยมติ กนง.ครั้งที่ผ่านมามีความระมัดระวังมากขึ้น โดยระบุว่าจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงด้านขาลงของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่เพิ่มเข้ามา ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่แตกต่าง ประเมินว่า กนง. ตรึงดอกเบี้ยที่ 2.50% ตลอดทั้งปีนี้ โดยการส่งสัญญาณของ กนง. ยังคงสะท้อนแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยไว้ แต่โอกาสที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ปีนี้ ยังขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า หากฟื้นตัวอ่อนแรงกว่าที่คาด จากความเสี่ยงอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศที่ชะลอลง ขณะที่ยังต้องรอความชัดเจนของมาตรการเศรษฐกิจภาครัฐ.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่