ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า กรณีที่หลายฝ่ายกังวลสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศทะลักเข้ามาในไทย จนทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และผู้ประกอบการในประเทศได้รับความเสียหายนั้น ในส่วนของกระทรวงก็ได้ใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และให้ปรับตัวพร้อมรับการแข่งขันได้ โดยมาตรการที่ใช้มีทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) แต่ส่วนใหญ่จะใช้มาตรการเอดี เพราะสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มีการทุ่มตลาด หรือ ขายสินค้าในไทยต่ำกว่าในประเทศผู้ผลิต โดยการเรียกเก็บอากรเอดีเพิ่มจากอัตราภาษีศุลกากร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเหล็กต่างๆที่นำเข้าจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ เวียดนาม ฯลฯ
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ที่มีนายภูมิธรรม เป็นประธาน มีคำวินิจฉัยให้เปิดไต่สวนการทุ่มตลาดอะลูมิเนียมอัดขึ้นรูปจากจีนรวม 8 รายการ ตามที่ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในไทยได้ยื่นคำขอ เพราะเกิดความเสียหายจากสินค้านำเข้า โดยมีระยะเวลาไต่สวนประมาณ 9 เดือน หากพบว่ามีการทุ่มตลาดจริงจะประกาศเก็บอากรเอดีกับสินค้านำเข้าเป็นเวลา 5 ปี จากนั้นจะพิจารณาทบทวนความจำเป็นของการใช้มาตรการ หากผู้ผลิตภายในยังมีความเสียหายอยู่ก็จะใช้มาตรการต่ออีก 5 ปี แต่หากไม่พบความเสียหายแล้วก็จะยุติ
นอกจากนี้ยังมีสินค้าอีก 20 รายการจากหลายประเทศ ที่ถูกใช้มาตรการเอดีต่อเนื่องจากปี 66 และมีอีก 2 สินค้าที่อยู่ระหว่างการทวบทวนจะใช้มาตรการต่อหรือไม่ คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนจากจีน และเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อนจากจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่