นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ เตรียมปรับขึ้นค่าผ่านทางเฉลี่ย 5-10 บาทต่อคัน หรือกำหนดอัตราค่าผ่านทางช่วงดินแดง - ดอนเมืองจากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท ซึ่งเป็นตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 22 ธ.ค. 2567 เวลา 00.01 น. นั้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาการปรับอัตราค่าผ่านทางโครงการทางหลวงสัมปทานในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 วิภาวดีรังสิต ตอน ดินแดง - ดอนเมือง และทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายทางด้านทิศเหนือ โดยมีนายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมทางหลวงเป็นประธานฯ เพื่อพิจารณาถึงปริมาณผู้ใช้ทาง, การขยายสัมปทาน, รายได้ รวมถึงเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย หากชะลอการขึ้นค่าผ่านทางแลกกับการขยายสัมปทาน ซึ่งล่าสุด คณะทำงานฯ ได้มีความเห็นว่า ยังไม่ควรขยายสัญญา เนื่องจากในภาพรวมไม่มีความคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ได้ส่งผลการศึกษาดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ดอนเมืองโทลล์เวย์จะมีการปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ระบุไว้ ตามรอบระยะเวลา 5 ปี หรือจะสามารถปรับขึ้นได้อีก 2 ครั้ง คือ ในเดือน ธ.ค. 2567 และเดือน ธ.ค. 2572 โดยจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577 จากนั้น สัมปทานโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์จะกลับมาเป็นของ ทล. ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมและกำหนดค่าผ่านทางให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน และมีราคาที่ถูกลงมากกว่าในปัจจุบัน หรืออาจจะเปิดประมูลใหม่ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาในทุกๆ 5 ปี ก่อนหมดสัมปทาน ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะเก็บค่าผ่านทางในอัตรา 20 บาท หรือไม่เก็บค่าผ่านทางเลยก็สามารถเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและสภาพแวดล้อมในขณะนั้น
นอกจากนี้ ทล. ยังได้หารือร่วมกับ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง เพื่อขอความร่วมมือบริษัทฯ ในการจัดโปรโมชั่นให้กับผู้ใช้ทาง โดยจำหน่ายคูปองผ่านทางในอัตราส่วนลด 5% ตามที่เคยดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้ทาง รวมทั้งเพิ่มสถานที่ และช่องทางการจัดจำหน่ายคูปองที่สะดวก และง่ายต่อการเข้าถึง รวมถึงประชาสัมพันธ์ช่องทางการจำหน่ายคูปองผ่านทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ในวงกว้างด้วย
บล.ทิสโก้ ชี้ว่า ผลการดำเนินงานของ DMT กำไรสุทธิไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากปีก่อน น้อยกว่าที่เราคาด 7% จากรายได้ค่าผ่านทางที่น้อยกว่าคาด และต้นทุนการให้บริการทางยกระดับที่มากกว่าคาด เป็นผลให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 62% น้อยกว่าที่เราคาด โดยบริษัทรายงานรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากปีก่อน จากปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยทางฤดูกาล เนื่องจากในไตรมาส 2 เป็นช่วงวันหยุดยาวและช่วงปิดภาคเรียน
โดยรายได้ค่าผ่านทางน้อยกว่าที่เราคาด จากปริมาณรถใช้ทางด่วนที่น้อยกว่าคาด จำนวนรถใช้ทางด่วนรวมอยู่ที่ 108,439 คันต่อวัน แบ่งเป็นจำนวนรถใช้ทางด่วนสัมปทานเดิมอยู่ที่ 68,575 คันต่อวัน และสัมปทานส่วนต่อขยายด้านทิศเหนืออยู่ที่ 39,864 คันต่อวัน สำหรับอัตราค่าผ่านทางเฉลี่ยอยู่ที่ 60.70 บาท (+2% YoY, แต่ทรงตัว QoQ)
อย่างไรก็ตาม บล.คงประมาณการผลประกอบการ คาดแนวโน้มไตรมาสที่ 3 ปริมาณการจราจรจะเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียนและเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้มีผู้ใช้ทางยกระดับเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดบนถนนวิภาวดีฯ คาดว่าจำนวนรถใช้ทางด่วนจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 โดยสมมติฐานของเราคาดจำนวนรถใช้ทางด่วนอยู่ที่ 117,448 คันต่อวันในปี 2024F นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการ PPP ของภาครัฐ ซึ่งมีโครงการเป้าหมายคือโครงการ M82 (มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน) โครงการ M5 (อุตราภิมุข) และโครงการ M6/M81 (จุดพักรถ) เพื่อเพิ่มความยั่งยืนทางธุรกิจ
คงแนะนำ “ซื้อ” โดยมูลค่าที่เหมาะสมที่ 14.30 บาท
เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสมที่ 14.30 บาท โดยคิดจากวิธี Discount Cash Flow ด้วยสมมติฐาน WACC 9.2% โดยอิงจาก risk free rate ที่ 3.2% risk premium 6.4% Beta 1 และประเมินมูลค่าถึงสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2034 ปัจจัยเสี่ยงมาจากการไม่สามารถขึ้นค่าผ่านทางได้ และจำนวนรถใช้ทางด่วนที่ต่ำกว่าคาด
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่