ชงนายกฯแก้ปัญหาสินค้านำเข้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชงนายกฯแก้ปัญหาสินค้านำเข้า

Date Time: 20 ส.ค. 2567 07:00 น.

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูก และไม่ได้มาตรฐานว่า กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาในภาพรวม รวมทั้งเตรียมจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาที่มีผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี เสนอนายกรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเกิดการบูรณาการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว แต่การแก้ปัญหาต้องคำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรม และความตกลงระหว่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ส.ค.67 กรมได้จัดประชุมร่วมกับภาคเอกชน 30 กลุ่มธุรกิจ เช่น พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม ของขวัญ ของชำร่วย เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เครื่องจักรกลและโลหะการ เซรามิก แกรนิตและหินอ่อน เครื่องสำอาง อาหารเสริม เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เพื่อรับฟังสถานการณ์การนำเข้า และการแข่งขันกับสินค้าของเอสเอ็มอีไทย รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ปัญหา ทั้งด้านคุณภาพและราคา โดยกรมจะรวบรวมทุกความเห็นนำเสนอในระดับนโยบาย เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาร่วมกัน

“ผู้ประกอบการให้ข้อมูลปัญหา และผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่มีต่อผู้ผลิตสินค้า ภาคบริการ การลงทุนและผู้บริโภค จากมาตรฐานต่ำและราคาถูก การลักลอบนำเข้าทางชายแดน การสำแดงพิกัดสินค้าที่เป็นเท็จ รวมถึงการตั้งธุรกิจบริการและภาคการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและผู้บริโภคไทย”

นอกจากนี้ยังเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้านำเข้า สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยด้านการผลิตและศักยภาพการประกอบธุรกิจ และปรับปรุงกฎหมาย ความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยทำกับประเทศต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ส่วนกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้ามาใช้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป เช่น สินค้าทุน วัตถุดิบ ฯลฯ หากหน่วยงานภาครัฐจะใช้มาตรการใดๆ ขอให้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำเข้า ผู้ใช้ และผู้บริโภคด้วย สำหรับการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) นั้น กรมได้ชี้แจงทำความเข้าใจกระบวนการไต่สวน และผลกระทบจากการใช้มาตรการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 23 ส.ค.นี้ กรมจะเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมมาหารือในลักษณะเดียวกันนี้อีก เช่น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมก่อสร้าง สภาวิศกร สภาสถาปนิก สมาคมท่องเที่ยว สภาการศึกษา สภามหาวิทยาลัย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ฯลฯ โดยภาคเอกชนร้องเรียนว่ามีรถขนส่งจากจีนเข้ามาทำธุรกิจโลจิสติกส์ และนักธุรกิจจีนเข้ามาทำธุรกิจบริการอื่นในไทย โดยไม่ถูกกฎหมาย จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยมาก.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ