“ลดค่าน้ำมัน-ค่าไฟ” ทำได้จริงฤา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ลดค่าน้ำมัน-ค่าไฟ” ทำได้จริงฤา

Date Time: 20 ส.ค. 2567 05:36 น.

Latest

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ คนใหม่ เปิด 9 นโยบายสานต่อ ยกระดับชีวิตเกษตรกร

ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับ “วิกฤติด้านราคาพลังงาน” ราคาจำหน่ายน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เอ็นจีวี และค่าไฟฟ้าเด้งขึ้นไปอยู่ในระดับที่แพงมากๆ กระทบอย่างรุนแรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และค่าครองชีพประชาชน สุดท้ายกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ทำให้รัฐบาลก้าวสู่ภาวะสั่นคลอน

เมื่อปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้น จนอาจกระทบต่อฐานเสียงทางการเมือง ทำให้ที่ผ่านมาทุกๆรัฐบาล จึงเลือกที่จะใช้วิธีอุดหนุนราคาพลังงาน หรือที่คุ้นเคยกันกับคำว่า “อุ้มค่าไฟ อุ้มค่าน้ำมัน” ตามคำสำนวนไทยที่ว่า “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” เพื่อไม่ให้กระทบคะแนนนิยม ซื้อเวลาเพื่อรอให้ราคาพลังงานกลับมาปกติตามวัฏจักรราคาตลาดโลก

แต่อย่างไรก็ตาม ในคราวนี้เราคงการอุดหนุนราคาพลังงานเป็นระยะเวลายาวนาน จะก่อให้เกิดผลข้างเคียง ทั้งการใช้พลังงานอย่างไม่ประหยัด และหนี้สินของรัฐบาลที่พอกพูนขึ้นมากและไม่มีทางตัดจบได้

ทำให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.พลังงาน ในสมัยรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ขอลองทำเรื่องที่ท้าทาย ด้วยการประกาศนโยบายที่จะ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” โครงสร้างพลังงาน เข้าไปรื้อระบบ ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน วางแนวทางการคิดคำนวณราคาใหม่หมด เพราะมั่นใจว่าการกำหนดราคาพลังงานที่ทำกันมากว่า 50 ปี ไม่สะท้อนต้นทุนจริง ไม่เป็นธรรมกับประชาชน เริ่มจากสอบถามต้นทุนราคานำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปและจำหน่ายในประเทศ

เรียกเสียงฮือฮาจากกองเชียร์ได้พอสมควร เพราะกระทรวงพลังงาน ไม่เคยมีข้อมูลอ้างอิงราคานำเข้าน้ำมันดิบ จากผู้ประกอบการ และบริษัททั้งหลายก็ยังเคยไม่ต้องแจ้งราคานำเข้าให้กับกระทรวงพลังงาน

ขณะเดียวกัน นอกจากราคาน้ำมัน อีกปัญหาที่เราต้องเผชิญหน้าคือค่าไฟแพง เนื่องด้วยการผลิตไฟฟ้าของไทยต้องผูกติดกับก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และช่วงที่ผ่านมาเราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาแพงเป็นประวัติการณ์และผันผวนมาก เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ

เห็นได้ว่า “ปัญหาด้านพลังงาน” มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งจัดการ และต้องตรวจสอบโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะการวางรากฐานโครงสร้างพลังงานเพื่อให้สร้างความเป็นธรรมและความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้กับประชาชน รวมทั้งการเสาะหา “ต้นทุนเชื้อเพลิง” ซึ่งภาครัฐไม่เคยรู้เห็น หรือควบคุมได้

“เป็นเรื่องที่ถูกโจมตีถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า เหตุใดราคาค่าไฟฟ้า และน้ำมันของไทยแพงกว่าเพื่อนบ้านในระดับเดียวกัน ผมขอยืนยันว่าราคาตัวเนื้อน้ำมันที่จริงอยู่ที่ 20 กว่าบาทต่อลิตร แต่ที่ราคาปลายทางที่ปั๊มน้ำมันต่างกัน จากนโยบายการกำหนดราคาน้ำมันของแต่ละประเทศ และหากเทียบกับมาเลเซีย ราคาน้ำมันของเราย่อมจะแพงกว่า เพราะมาเลเซียมีแหล่งน้ำมันดิบจำนวนมาก มีรายได้นำมาพยุงค่าน้ำมันได้ แต่ละปีมาเลเซียใช้งบเกือบ 400,000 ล้านบาท แต่วันนี้มาเลเซียเริ่มแบกภาระไม่ไหว ขึ้นราคาน้ำมันดีเซลมาเลเซียทีเดียว 10 กว่าบาท” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับประเทศไทย เราก็มี “กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ช่วยพยุงราคาน้ำมัน แต่โจทย์คือทำอย่างไรรัฐจึงจะสามารถควบคุมราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ ไม่ขึ้นลงเป็นรายวันได้ ผู้ประกอบการและประชาชนไม่เดือดร้อน และขณะนี้กระทรวงพลังงานเริ่มเห็นแสงสว่างทางออกเรื่องนี้ ผ่านร่างกฎหมายที่เรียกว่าระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) ซึ่งเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างทบทวน

โดยกฎหมายนี้จะมาเป็นตัวช่วยดำเนินการเรื่องน้ำมันอย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีการเก็บสำรองปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงแทนการเรียกเก็บเงินเข้าออกกองทุนฯแบบปัจจุบัน โดยรัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันสำรองซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้ 90 วัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล ต่างจากเดิมที่ให้ผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ถือครองน้ำมันสำรอง 25-36 วัน และเมื่อเหตุฉุกเฉินภาครัฐจะเข้าควบคุมเพื่อจัดการน้ำมันสำรองก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งการใช้ระบบ SPR จะเปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทยได้

นายพีระพันธุ์ยังได้ขยายมุมมองการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง ที่ทำง่าย ทำได้ทันที เป็นตัวช่วยประชาชนลดค่าไฟฟ้าคือการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ปัญหาหลักคือค่าใช้จ่ายอุปกรณ์และการติดตั้งสูง ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการทำระบบโซลาร์รูฟท็อป สําหรับใช้เอง โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุนการผลิตจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก

ทำให้ต้องดูกันต่อไปว่ากฎหมายที่กำลังรื้อใหม่นี้จะออกมาอย่างไร จะมีกลไกเพิ่มเติมช่วยลดราคาพลังงาน ปลดระบบที่ผูกขาดในภาคพลังงาน และสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานไทยอย่างยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด

ต้องฝากเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ให้ รมว.พลังงานคนใหม่ สานต่อให้เป็นรูปธรรม!!!

เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ