เศรษฐกิจปีนี้ไม่ง่าย... นี่คือคำกล่าวของผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย แทบทุกราย ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเอ่ยถึงภาวะความยากลำบากในการทำธุรกิจตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อีกทั้ง แนวโน้มช่วงที่เหลือของปี สถานการณ์คงไม่แตกต่างกันมากหนัก และ อาจเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิมจากภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ซ้ำเติมวิกฤติ “กำลังซื้อ” คนไทยขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ และ ความมั่นใจในการก่อหนี้ก้อนใหม่ หากแต่ปัญหาใหญ่จริงๆ คือ ดีมานด์เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ยอดรีเจ็กต์ (แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ) ทะลุ 60-70% ต่อโครงการ เท่ากับขายบ้านไป 100 หลัง ลูกค้าโอนกรรมสิทธิ์ คืนทุนกลับมาแค่ 30-40 หลังเท่านั้น จากปัญหากฎเกณฑ์เข้มงวด แบงก์ผวาหนี้ครัวเรือนล้น-ดอกเบี้ยสูง ปลายทาง คือ กระทบสุขภาพการเงินของดีเวลลอปเปอร์หลายราย
โดยข้อมูลรวบรวมของ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด (LWS) บริษัท วิจัย และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเครือบริษัท LPN เผยว่า จากการรายงานผลประกอบการของ 40 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ ครึ่งแรกของปี 2567 พบภาพรวมอยู่ในสถานะมีรายได้ลดลงและกำไรร่วง 23.33% เมื่อเทียบกับปี 2566
ขณะความสามารถในการทำกำไรเหลือเพียง 8.60% เท่านั้น แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ สินค้าคงเหลือ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่อาจต้องใช้เวลาในการขายประมาณ 27-28 เดือน (กรณีไม่เปิดโครงการใหม่)
ทั้งนี้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FPT) เป็นงบการเงินงวด 9 เดือน (ตุลาคม 2566-มิถุนายน 2567) ขณะ สิงห์ เอสเตท (S) มีรายได้ที่ฟิ้นตัวขึ้นมา จากกิจการธุรกิจโรงแรม ทั้งในและ ต่างประเทศ นอกเหนือ ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย
อันดับ 1 : แสนสิริ กำไรสุทธิ 2,702 ล้านบาท ลดลง 15.63 %
อันดับ 2 : เอพี ไทยแลนด์ กำไรสุทธิ 2,277 ล้านบาท ลดลง 24.67 %
อันดับ 3 : แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กำไรสุทธิ 2,248 ล้านบาท ลดลง 19.81 %
อันดับ 4 : ศุภาลัย กำไรสุทธิ 2,212 ล้านบาท ลดลง 20.44%
อันดับ 5 : ควอลิตี้เฮ้าส์ กำไรสุทธิ 1,110 ล้านบาท ลดลง 12.02%
อันดับ 6 : ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กำไรสุทธิ 915 ล้านบาท ลดลง 45.19 %
อันดับ 7 : แอสเซทไวส์ กำไรสุทธิ 849 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93.13 %
อันดับ 8 : เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ กำไรสุทธิ 805 ล้านบาท ลดลง 21.06 %
อันดับ 9 : เอสซี แอสเสท กำไรสุทธิ 713 ล้านบาท ลดลง 36.69%
อันดับ 10 : พฤกษา กำไรสุทธิ 379 ล้านบาท ลดลง 77.57
ทั้งนี้ สถาบันการเงินต่างๆ คาดว่าปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ ภาระหนี้ครัวเรือน ภาระค่าใช้จ่ายที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังคงจะกดดันการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน ส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในระดับกลาง-ล่าง ขณะกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางค่อนบนถึงระดับคนรวย มีแนวโน้มฟื้นตัวได้มากขึ้น คาดจะช่วยประคองตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2567 นี้.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney