บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI Group คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 ผ่านเม็ดเงินโฆษณาและกิจกรรมการตลาด พบการจับจ่ายของผู้บริโภคยังซึมยาว เหตุปัจจัยค่าครองชีพพุ่งสูง รายได้หดตัว ซ้ำเติมผู้ประกอบการจากการแข่งขันและปัจจัยลบรอบด้าน
อีกทั้งสุญญากาศของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ ครม. ทั้งคณะ น่าจะกินเวลากว่า 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ซึ่งทาง MI GROUP ได้ประเมินฉากทัศน์นี้ไว้ว่า อาจทำให้เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาและสื่อสารการตลาดปิดปี 2024 ไม่เติบโต หรืออาจติดลบเมื่อเทียบกับปี 2023 ที่ผ่านมา
โดยต้องรอจับตา “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” ที่เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทยต่อจากนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ โดยจะมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ แทน อย่างไรก็ตาม โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง ว่าจะมีโอกาสได้ไปต่อหรือไม่
จากข้อมูลของ MI Group ยังชี้อีกว่า เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาล่าสุดปีนี้ถึงเดือนกรกฏาคม อยู่ที่ 49,433 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2,310 ล้านบาท หรือโตขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันปี 2023 ทั้งนี้ หากคำนึงถึงปัจจัยบวกและลบต่างๆ ตลอดทั้งปีแล้ว รวมถึงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลระบุว่า จะแจกให้กับประชาชนได้ใช้จ่ายในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ คาดเม็ดเงินโฆษณาทั้งปีจะปิดที่ 87,617 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.3% จากปี 2023 โดยจะเติบโตขึ้นจากสื่อดิจิทัลและสื่อนอกบ้าน (Out of Home Media) เช่น บิลบอร์ด โฆษณาติดรถ ใบปลิว เป็นต้น ขณะเดียวกัน เม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากความนิยมที่ลดลง และกระแสโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น
แต่จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาจส่งผลให้เม็ดเงินในตลาดโฆษณาปี 2024 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย MI Group คาดว่า เม็ดเงินที่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ โฆษณาโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือพิมพ์ แม็กกาซีน รวมไปถึงโฆษณาในโรงภาพยนตร์
จากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นในช่วงปีนี้ การจับจ่ายของผู้บริโภคยังซึม ค่าครองชีพที่ยังคงพุ่งสูง รายได้หดตัว ปัจจัยหลักส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ที่ผู้ประกอบการในไทย (ทั้งผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างชาติในไทย) ได้รับผลกระทบและการแข่งขันจากผู้ประกอบการจีน หรือทุนจีนที่เข้ามาในหลากหลายอุตสาหกรรม จากนโยบายการให้สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนของภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่ให้ทุนจีน ส่งทั้งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยในหลายเรื่อง แต่ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณและหลักฐานชัดในด้านผลเสีย เนื่องจากผู้ประกอบการจีน ทุนจีนที่เข้ามาในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างจากผู้ประกอบการและทุนจากชาติอื่นๆ ที่ผ่านมา ความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต การใช้นิเวศการผลิตและการดำเนินธุรกิจในสไตล์จีน ไม่ค่อยส่งผลดีในภาคการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบการผลิตภายในประเทศ ซ้ำร้ายยังส่งผลต่อผู้ประกอบอื่นๆ ในไทย ที่เสียเปรียบอยู่หลายช่วงตัว ผู้ประกอบการหลายรายลดกำลังการผลิตเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิต บางรายปิดตัวลง ลดการจ้างงาน ยกเลิกการจ้างงาน ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นทอดๆ มายังแรงงานเกือบทุกประเภท (ทั้งแรงงานทักษะสูงและต่ำ)
ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs คาดหวังให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการเพื่อปกป้อง ลดความได้เปรียบของผู้ประกอบการและทุนจากต่างชาติ และเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดที่เป็นธรรมและอยู่รอดได้ในสมรภูมิเดือดนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada รวมไปถึงแพลตฟอร์ม Shoppertainment อย่าง TikTok ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยไม่ได้ไปต่อ และยุติกิจการลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อีกทั้งล่าสุด Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนต่อท่อตรงสินค้าจากจีนมายังผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวได้สั่นสะเทือนวงการอีคอมเมิร์ซทั้งในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศมาแล้ว ด้วยจุดขายสินค้าราคาถูก ส่งถึงมือผู้ซื้อได้เร็ว และรับประกันความพึงพอใจ
พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่หลังวิกฤติโควิด-19 เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดและผู้บริโภคในประเทศไทยเข้าสู่ยุค Social-Driven Society อย่างเต็มตัว หรือเป็นยุคที่ผู้บริโภคฟังและเชื่อถือผู้บริโภคด้วยกันมากขึ้น MI GROUP คาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยจะแตะ 1,000,000 ล้านบาท ในช่วง 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอน
ภาพรวมบรรยากาศของตลาดในประเทศเป็นที่ชัดเจนว่า Influencer Marketing กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการตลาดและสื่อสารการตลาดในยุคที่ Influencer มีหน้าที่หลักในส่วน Lower Funnel หรือกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดแอ็กชันและการซื้อ-ขายต่อแบรนด์สินค้า และบริการนั้นๆ การเดินเกมการตลาดแบบนี้ เพื่อเพิ่มยอดขายท่ามกลางสภาวะที่กำลังซื้อยังคงซบเซา
นอกจากนี้ Influencer Marketing ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักทางการตลาด ดันเม็ดเงินในส่วนนี้เติบโตแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยแตะมากกว่า 30% ของงบโฆษณาในแต่ละแคมเปญ (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ขนาดของแคมเปญ และงบประมาณ) และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่นับรวม Affiliate Marketing (การตลาดแบบช่วยขาย แล้วแบ่งกำไร) ที่เป็นตัวผลักดันหลักให้จำนวน Influencers ในไทยพุ่งแตะกว่า 2 ล้านรายแล้วในปัจจุบัน
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney