ครม. ไฟเขียว “NaCGA” ตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิต เพิ่มอำนาจ SMEs ขอ “สินเชื่อ” ธนาคารง่ายขึ้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ครม. ไฟเขียว “NaCGA” ตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิต เพิ่มอำนาจ SMEs ขอ “สินเชื่อ” ธนาคารง่ายขึ้น

Date Time: 14 ส.ค. 2567 18:10 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ครม. ไฟเขียว ตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ “NaCGA” ยกเครื่องกลไกค้ำประกันสินเชื่อ SMEs หวังเพิ่มอำนาจธุรกิจรายย่อย ต่อรองขอ "สินเชื่อ" จากธนาคารและ Non-bank จ่อร่างกฎหมายร่วมกับ ธปท. ใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน

บรรยากาศเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นับว่ายังอึมครึม แม้ประชาชนบางส่วนจะมีความหวังขึ้นมาบ้าง จากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายกระตุ้นกำลังซื้อฐานราก ที่คาดว่าจะพร้อมให้ใช้กันช่วงปลายปีนี้ แต่ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง ที่กดดันให้ธนาคารเข้มปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย ที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ สะท้อนจากอัตราการเติบโตสินเชื่อ SMEs ที่หดตัวอย่างต่อเนื่องมานาน โดยล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2567 หดตัวมากถึง 5.1% เมื่อเทียบกับสินเชื่อ

ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่งสัญญาณเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลจึงเร่งสั่งการให้กระทรวงการคลังออกมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่ออย่างเร่งด่วน ล่าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวคิดการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) เพื่อยกระดับกลไกการค้ำประกันของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพ และสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และผู้ประกอบการรายย่อย เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายได้ด้วยต้นทุนทางการเงิน ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงมากขึ้น


โดยนากก้า(NaCGA) จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการค้ำประกันมีความรวดเร็วและยืดหยุ่น พึ่งพางบประมาณจากภาครัฐน้อยลง โดยมีหน้าที่หลักเป็นผู้ค้ำประกันเครดิตให้กับ SMEs ผ่านการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee Approach) และรายสัญญา (Individual Guarantee) พร้อมคิดค่าธรรมเนียมอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing) ทั้งนี้ เมื่อได้รับการค้ำประกันแล้ว ลูกหนี้สามารถถือใบประกันความเสี่ยง ไปยื่นขอสินเชื่อที่ธนาคาร หรือ Non-bank ที่ให้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทของลูกหนี้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน

ทั้งนี้ แหล่งเงินที่ NaCGA จะใช้ในการค้ำประกันจะมาจาก 3 แหล่ง 1. เงินที่รัฐบาลสมทบ 2. แหล่งเงินที่เก็บจากสถาบันการเงิน และ 3. รายได้จากค่าธรรมเนียมจากคนที่มาขอสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้ว ขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลังจะร่างกฎหมายจัดตั้งร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ