การกลับมาคึกคักของตลาดนักท่องเที่ยว, กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นปกติ และ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมานิยมรับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น รวมไปถึง อิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้มีการคาดการณ์ ว่า มูลค่าของตลาดธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่มไทย หลังจากปี 2567 จะขยายตัวได้ ไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม มีทิศทางบ่งชี้ชัดเจนว่า การทำธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย บนส่วนแบ่งทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของผู้เล่นรายใหญ่/มีเชนสาขา และ “กำลังซื้อ” ของผู้บริโภคอาจยังคงรอการฟื้นตัวท่ามกลางค่าครองชีพที่ยังสูง ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ยังมีความเสี่ยงด้านความสามารถในการทำกำไร
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อปี 2566 มีร้านอาหารเปิดใหม่ทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า มากถึง 13.6% ทำให้ปัจจุบัน ไทยมีธุรกิจที่ประกอบกิจการเป็นร้านอาหาร ราว 6.8 แสนร้าน กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โดยร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็น 24% ของร้านอาหารทั่วประเทศ ซึ่งกรุงเทพฯ มีการกระจุกตัวของร้านอาหาร สูงที่สุด รองลงมาเป็นหัวเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ได้แก่
ทั้งนี้ เมื่อเทียบความหนาแน่นร้านอาหารของไทย กับต่างประเทศ จะพบว่า ประเทศไทย อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก โดยไทย มีจำนวนร้านอาหาร เฉลี่ย 9.6 ร้านต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่ประเทศท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างญี่ปุ่น ยังมีร้านอาหารต่ำกว่าไทย อยู่ที่ 7.5 ร้านต่อประชากร 1,000 คน สะท้อนถึงความร้อนแรงของธุรกิจ
อย่างไรก็ดี เมื่อมาพิจารณาในการแง่การลงทุน พบว่า ธุรกิจร้านอาหาร มีต้นทุนทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูง ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง อย่างที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ อยู่ในภาวะ “ขาดทุน” บนรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะปัจจัยท้าทายข้างหน้า ยังคงเป็นการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีก, ปัจจัยค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น, กำลังซื้อคนไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังกดดันต่อทิศทางกำไรของธุรกิจ เช่นเดียวกับ พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็เป็นปัจจัยฉุดรั้งเช่นเดียวกัน
ส่วนปัจจัยเร่งของธุรกิจร้านอาหาร หากแต่เป็นการขยายตัวของความเป็นเมืองและสื่อโซเชียลมีเดียผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การแนะนำร้านอาหารใหม่ๆ การแชร์ประสบการณ์การรับประทานอาหารในร้าน การโปรโมตร้านอาหารผ่านโฆษณาออนไลน์ การสร้างการติดตามจากลูกค้าโดยแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจของอาหาร และการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ของร้านอาหาร โดยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 77.8% เมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ที่ 69.5%
ข้อมูลที่น่าสนใจ จากวิจัยกรุงศรี ยังพบว่า รายได้หลักของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม คาดจะยังคงมาจากนิติบุคคลไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าสัดส่วนจะลดลงทีละน้อยเหลือ 98.7% จาก 98.8% ในปี 2565 ขณะที่นิติบุคคลต่างชาติมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการสัญชาติจีน
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ,วิจัยกรุงศรี
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney