นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ว่า ปัญหาน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้ จึงมอบให้หน่วยงานเรื่องน้ำ เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” อย่างยั่งยืน และเน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ ภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติด้านน้ำอื่นๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ ประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน คือ 1.เพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค 2.ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และพัฒนาระบบกระจายน้ำ 3.พัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน 4.พัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และ 5.พัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ
พร้อมกันนั้นได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ส.ค.นี้ และให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (Gistda) ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกันติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน
“เกษตรกรเป็นอาชีพหลักของเราหลาย 10 ล้านคน พวกเราในกรุงเทพฯมีน้ำใช้กันเต็มที่ แต่ต่างจังหวัดมีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำใช้อุปโภคและบริโภคยังไม่มี และทุกปีต้องใช้งบประมาณในการชดเชย ถ้าบริหารจัดการไม่ให้มีน้ำท่วม น้ำแล้ง เชื่อว่าความเดือดร้อนของประชาชนจะหายไปเยอะ รวมถึงผลกระทบในเชิงบวกที่จะก่อให้เกิดผลผลิตทางการเกษตร เราเป็น ประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง การที่โลกแย่งอาหาร จะทำให้ไทยมีจุดเด่นด้านนี้มาก และสุดท้ายพูดกันน้อยคือ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องการน้ำเยอะ การเชิญต่างชาติให้มาลงทุน ถ้ามาแล้วน้ำขาดก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องบูรณาการครบทุกภาคส่วน ถ้าบริหารจัดการน้ำได้ดี ประเทศไทยก็เดินไปข้างหน้าได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่าการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 54 ใช่หรือไม่ นายกฯยิ้มก่อนกล่าวว่า “ครับ”
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แผนการบริหารจัดการน้ำระยะ 3 ปี ที่ สทนช. จะนำเสนอ ครม.มีวงเงิน 548,485 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ ปี 68 วงเงิน 155,986 ล้านบาท, ปี 69 วงเงิน 208,815 ล้านบาท และปี 70 วงเงิน 183,684 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ในระดับประเทศลงลึกถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งในปีสุดท้ายคือ ปี 70 น้ำท่วมและแล้งซ้ำซากจะต้องลดลง แต่วงเงินดังกล่าวยังไม่รวมโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยโครงการต่างๆบรรจุในแผน 20 ปีของรัฐบาล นายกฯสั่งให้เร่งดำเนินการในโครงการที่มีความเป็นไปได้ก่อน
“ในแผน 20 ปีของรัฐบาลมีโครงการมากมาย ที่ประชุมเลือกโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนมาดำเนินการก่อน เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาล ตั้งใจลดน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้เห็นผลงานชัดเจน”
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เป้าหมายแผน 3 ปี เพื่อให้ครัวเรือนเข้าถึงระบบประปา และน้ำสะอาด เพิ่มขึ้น 4.5 ล้านครัวเรือน, พื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง 22.36 ล้านไร่ ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีแหล่งน้ำและระบบชลประทาน ระบบกระจายน้ำ 12.34 ล้านไร่ คิดเป็น 54% ของพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน, พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี 1.6 ล้านไร่ ได้รับการแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วม 0.68 ล้านไร่ คิดเป็น 42% และจากเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 62 จำนวน 27.27 ล้านไร่ จะได้รับการฟื้นฟู 3.32 ล้านไร่ หรือ 12.17% ของเป้าหมาย.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่