เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ที่ขยายตัวต่ำเพียง 1.9% จากปัจจัยกดดัน ทั้งความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ขณะผ่านมาแล้ว 7 เดือน ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้าน ภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง
เรื่อยไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และการขาดแรงขับเคลื่อนในแง่ “เม็ดเงิน” จากงบประมาณล่าช้าเพราะเหตุการเมือง ทำให้ขณะนี้ทั้งการลงทุน และกำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแอ เกิดภาพบางกิจการไปต่อไม่ได้ โรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จนกระทบลามไปยังธุรกิจเกี่ยวข้องอื่นๆ
เช่นเดียวกับแนวโน้มของธุรกิจอพาร์ตเมนต์และหอพักให้เช่า ก็อยู่บนความท้าทายเช่นกัน Thairath Money เจาะข้อมูลจากวิจัยธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พบว่าแม้ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวขึ้นมา ทำให้แรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกลับมามีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัจจัยบวกให้การลงทุนของผู้ประกอบการอพาร์ตเมนต์ ช่วงปี 2566 เริ่มกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ สะท้อนจากการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 12.3% ภายใต้พื้นที่รวมทั่วประเทศ ราว 1.65 ล้าน ตร.ม. จำนวนทั้งสิ้น 1,624 อาคาร เพิ่มขึ้น 41.5%
อย่างไรก็ตาม จะพบว่าเทรนด์การพัฒนาโครงการอพาร์ตเมนต์ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ จะเน้นไปที่การพัฒนาอาคารขนาดเล็กลง เพราะได้รับปัจจัยกดดัน ด้านราคาที่ดินและต้นทุนก่อสร้าง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน การลงทุนที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะยิ่งส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรง และกระทบต่อการทำกำไรให้ปรับลดลงเช่นกัน
ส่วนข้อมูล 4 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดยังขยายตัวเพิ่มขึ้น 50.9% ในแง่การออกใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ ราว 0.57 ล้าน ตร.ม. แต่ยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยกลุ่มจังหวัดที่อาคารเพิ่มมากขึ้นสูงสุด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี (+398.2%), นครราชสีมา (218.3%), ราชบุรี (477.7%) เช่นเดียวกับ ชลบุรี (129.4%) และภูเก็ต (+127.9%) สะท้อนการให้ความสนใจในย่านธุรกิจและอุตสาหกรรมตามเมืองสำคัญๆ เป็นหลัก แต่สมุทรปราการ, นนทบุรี, ฉะเชิงเทรา และสงขลา รวมไปถึงจันทบุรี แนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ วิจัยแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วิเคราะห์ว่า แม้จำนวนอาคารกลุ่มอพาร์ตเมนต์-หอพัก ทั่วประเทศ จะฟื้นตัวเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมองไประยะอีก 1 ปีข้างหน้า ธุรกิจดังกล่าวเต็มไปด้วยความท้าทาย และอยู่ในภาวะ “หดตัว” อยู่
โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับสถานศึกษา จากการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากผู้ประกอบการเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงจำนวนนักศึกษา ที่คาดว่าจะลดลงจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปตามอัตราการเกิดที่น้อยลง ซึ่งส่งผลให้จำนวนเด็กและวัยแรงงานลดลง
ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว รวมถึงอพาร์ตเมนต์ในย่านธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่มีเป้าหมายสำหรับกลุ่มวัยทำงานที่มีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม จากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน
ส่วนฐานะการเงินของครัวเรือนและภาคธุรกิจยังมีความเปราะบาง อาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายพิจารณาลดการจ้างงาน หรือแม้กระทั่งต้องปิดกิจการ กระทบต่อกำลังซื้อของผู้เช่า และอัตราการเข้าพักในพื้นที่นั้นๆ ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการต้องพยายามรักษาจำนวนผู้เช่าไม่ให้ลดน้อยลง แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่เผชิญร่วมกัน คือ ต้นทุนการลงทุน และการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ระยะคืนทุนช้าขึ้น เพราะอัตราผลตอบแทนยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ยกเว้นธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่เน้นบริการกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน และเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น
ที่มา : วิจัยแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney