รัฐบาลปล่อยหมัดเด็ด ออกมาตรการ ดึงคนเก่งกลับประเทศ “ลดภาษีบุคคลธรรมดา” เหลือ 17%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รัฐบาลปล่อยหมัดเด็ด ออกมาตรการ ดึงคนเก่งกลับประเทศ “ลดภาษีบุคคลธรรมดา” เหลือ 17%

Date Time: 30 ก.ค. 2567 19:15 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี สำหรับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เล็งลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 17% ส่วนนายจ้างเอาค่าใช้จ่ายหักภาษีได้เพิ่มเป็น 1.5 เท่า หวังดึงคนเก่งกลับมาทำงานในประเทศ

Latest


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญใน การพัฒนาประเทศและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ แก่ผู้เข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

สำหรับบุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) 

ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่กฎหมายกำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) จะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเหลือ 17% ของเงินได้ เมื่อคำนวณเงินได้แล้วต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า 17% โดยต้องเป็นเงินได้ พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

สำหรับนิติบุคคล (นายจ้าง) 

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายที่ว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญา

จ้างแรงงานของลูกจ้าง ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ได้จำนวน 1.5 เท่า โดยเป็นการจ่ายเงินเดือนระหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด


เงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ

กรณีผู้มีเงินได้ (ลูกจ้าง)


1.ผู้เข้าร่วมมาตรการจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
  • ประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยมีเอกสารรับรองการทำงานจากนายจ้างในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดที่ยืนยันประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ เช่น สัญญาจ้างงาน หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้จากการทำงานในต่างประเทศ หรือเอกสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นต้น
  • ต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
  • เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายที่กำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ในช่วงเวลาวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
  • ต้องไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้
  • กรณีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในปีภาษีใดเป็นครั้งแรก ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ
  • ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายที่ใช้สิทธิจะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้

       

2.ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กรมสรรพากรกำหนด


3.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ ทางภาษีตามมาตรการนี้กรมสรรพากรสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ตามสมควร


กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (นายจ้าง)

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิต้องแจ้งรายละเอียดของผู้มีเงินได้ที่เป็นลูกจ้างซึ่งจะใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องมีข้อความและเอกสารประกอบอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดผ่านสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการ ตั้งอยู่ภายในวันสุดท้ายของปีภาษีแรกที่ผู้มีเงินได้ ใช้สิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้รับรองว่าข้อมูลและเอกสารที่แจ้งต่อกรมสรรพากรมีความถูกต้องและเป็นความจริง 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคาดว่า กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศและไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย ดังนั้น การดำเนินมาตรการนี้อาจเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล ส่วนกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล คาดว่าจะสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 120 ล้านบาทจากการคาดการณ์ว่าจะมีคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนประมาณ 500 คน

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ