หลังจากถูกร้องขอจากภาคเอกชน การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ก.ค.เห็นชอบใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ช่วยพยุงราคาพลังงานต่อไป โดยให้ตรึงเพดานดีเซลที่ 33 บาทต่อลิตรไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค.67 ตรึงค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค.ไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และยังคงช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยที่ 3.99 บาท
แม้ทุกฝ่ายก็รู้ดีว่า ฐานะ “เดอะแบก” ตัวจริง อย่างกองทุนน้ำมันฯในขณะนี้ อยู่ในสถานการณ์วิกฤติอย่างยิ่ง ณ วันที่ 21 ก.ค.2567 บัญชีติดลบไปถึง 111,799 ล้านบาท ถือว่ามีความเสี่ยงสูง
ที่จะขอกู้เงินเพิ่มได้ยากแล้ว และที่สำคัญทุกบาททุกสตางค์ที่กองทุนน้ำมันฯใช้อุดหนุนราคาพลังงาน ก็ไม่ได้หายไปไหน แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “หนี้สาธารณะ” หนี้ของคนไทยที่ฝากไว้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่วันนี้คนส่วนใหญ่อาจมองไม่เห็น หรือมองข้ามไปก่อน
และอีกหนทางหนึ่งที่มักใช้ควบคู่กันไปคือการขอให้กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันชั่วคราว เพื่อพยุงราคาขายปลีกไว้ในเพดานที่กำหนด แต่ในช่วงหลังๆการจัดเก็บรายได้ของรัฐไม่ได้ดีนักตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นที่รอใช้เงินอยู่ การเฉือนภาษีน้ำมัน อาจจะทำให้รัฐบาลทำใจลำบาก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิชาการในสายพลังงานพยายามบอกมาตลอดว่า แม้จะใช้กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนราคาไปเรื่อยๆจนฐานะการเงินเข้าขั้น “ล้มละลาย” หรือลดภาษีน้ำมันลงอีกบาทต่อลิตร ก็ยังเป็น “การแก้ปัญหาแบบระยะสั้น” เพราะราคาพลังงานบ้านเราก็เหมือนกับ “ประเทศเรา” ที่กำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง
แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีรัฐบาลไหนคิดจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรมและยั่งยืน ที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้ว่า ต้นทุนราคาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน โครงสร้างราคาน้ำมันที่เหมาะสมเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้ที่มีรัฐมนตรีพลังงานชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ซึ่งตั้งธงมาตั้งแต่เริ่มว่าจะรื้อโครงสร้างราคาพลังงานให้สำเร็จ โดยที่ผ่านมาได้ออกประกาศให้มีการแจ้งข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้กระทรวงฯ ทราบถึงต้นทุนที่แท้จริง ป้องกันมิให้เกิดการค้ากำไรเกินควร รวมทั้งการดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามนโยบาย รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อให้ได้ราคาพลังงานเป็นธรรมกว่าที่ผ่านมา ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ฯลฯ
นอกจากนั้น ยังต้องการปรับบทบาทกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้อำนาจและขอบเขตที่ครอบคลุมกว่าเดิม มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งการอุดหนุนราคา แทรกแซงเชิงปริมาณ หรือเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ชนิดครบวงจรได้ในที่เดียว และที่สำคัญการคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะต้องได้ผู้ที่รู้งานจริง สามารถปฏิบัติงานได้อย่างอิสระภายใต้นโยบายและกฎหมายที่กำลังจะแก้ไขด้วย
มาถึงจุดนี้ หลายคนอาจมองว่าการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องยากใช้เวลา แต่คงยังดีกว่าปล่อยไว้ และเป็นเรื่องที่คนไทยควรสนับสนุน แต่ที่สำคัญจะต้องทำด้วยความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะท่ามกลางข้อครหา รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด มีพลังงานบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ทำไมผู้ค้าน้ำมันมีกำไรมหาศาล ค้ากำไรเกินควรหรือไม่
ในระหว่างทางของการเดินหน้าปรับโครงสร้างพลังงาน ควรมีคำตอบของคำถามเหล่านี้ว่า ความจริงเป็นอย่างไร และจะมีทางออกอย่างไร เพื่อให้คนไทยใช้พลังงานได้ในราคาที่เป็นธรรมและยั่งยืน.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่าน "กระจก 8 หน้า" เพิ่มเติม