เป็นคำถามที่รู้คำตอบกันดีว่า เพราะอะไร? คนไทยจำนวนมาก ยังต้องกู้ “หนี้นอกระบบ” แม้ดอกโหด ชีวิตพัง แต่ต้องยอมแลก เพราะรายได้ไม่แน่นอน และไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงแหล่งเงินในระบบของประเทศ
ปัญหาที่ควรถูกผลักดันให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เนื่องจากไม่ได้สะท้อนแค่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนถึงคุณภาพชีวิต และสร้างบาดแผลทางสังคมอย่างน่าเวทนา เพราะแนวโน้มกำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นี่คือนิยามของหนี้นอกระบบ ยิ่งไม่มีตรวจเครดิตบูโร ก็ยิ่งทำให้เรากู้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่ต้องจำยอมกับสัญญาไม่มีมาตรฐาน ไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ หลายครั้งถูกบังคับให้จ่ายเกินมากกว่าความเป็นจริง กู้หมื่นจ่ายแสน มีให้เห็นเยอะมาก อีกทั้งมีคำเตือนติดปาก ในหมู่คนที่เคยตกอยู่ในวังวนดังกล่าวว่า ถ้าไม่อยากชีวิตพัง อย่ายุ่งกับหนี้นอกระบบ!
ขณะ ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ปัจจุบันกลโกงจากแก๊งหนี้นอกระบบมี 3 ประเภท ด้วยกัน ได้แก่
เจาะข้อมูลในเชิงตัวเลข ตลาดหนี้นอกระบบของไทย Krungthai COMPASS (ธนาคารกรุงไทย) เผยว่า ครัวเรือนไทย มีภาระหนี้ต่อ GDP สูงกว่า 90% ของ GDP จากรอยแผลทางเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ระบาด หนี้ด้อยคุณภาพในทุกประเภท มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งรถยนต์ บ้าน และบัตรเครดิต
แต่ความน่ากังวล อยู่ที่เมื่อสายป่านในการรับมือขาด กับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ถาโถมเข้ามา นอกจากภาระหนี้ในระบบที่เกินความสามารถในการผ่อนชำระแล้ว การหาวงเงินกู้รอบใหม่ยังถูกจำกัดด้วยความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อ จนอาจผลักดันให้กลุ่มเปราะบางต้องหันไปพึ่งพา “เงินกู้นอกระบบ”
จากข้อมูลของสภาพัฒน์ รายงานว่า ยอดหนี้นอกระบบปี 2564 อยู่ที่ 9.07 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2566 Krungthai COMPASS ประมาณการว่าจะแตะระดับ 1.35 แสนล้านบาท
แต่เมื่อมาพิจารณาอีกข้อมูลหนึ่ง คือ การสำรวจหนี้ครัวเรือน โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า “หนี้นอกระบบ” ในปี 2566 มีสัดส่วนเกือบ 20% ของหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งหากผนวกกับข้อมูลหนี้ในระบบฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณ 16 ล้านล้านบาท
จึงอาจประเมินได้ว่า มูลค่าหนี้นอกระบบของคนไทย ในช่วงปีที่ผ่านมา อาจสูงถึง 3.97 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าข้อมูลที่สภาพัฒน์ประเมินไว้อย่างมาก อีกนัยอาจเป็นความจำเป็นที่รัฐต้องเร่งพัฒนาฐานข้อมูลกลางที่น่าเชื่อถือได้ ออกมาใช้ประโยชน์
“สัดส่วนหนี้นอกระบบ ที่อาจสูงราว 4 ล้านล้านบาท ยังสะท้อนว่า มีคนไทยอีกจำนวนมาก ที่พึ่งพาเงินกู้นอกระบบ เนื่องจากขาดสินทรัพย์ และมีรายได้ไม่แน่นอน หรือเพียงพอสำหรับผ่านเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อในระบบ”
อีกด้าน Thairath Money พบข้อมูลวิจัยของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า มากกว่า 50% ของครัวเรือน ซึ่งมีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของธุรกิจส่วนตัวและเกษตรกร กู้หนี้นอกระบบ เพื่อนำไปใช้จ่ายในการลงทุน
ขณะที่ 70% ของลูกหนี้ที่มีอาชีพเป็นพนักงานเอกชน ลูกจ้าง อาชีพอิสระ และไม่ได้ทำงาน กู้หนี้นอกระบบเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยจำเป็นของครัวเรือน และอีกประมาณ 20% ของพนักงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจกู้หนี้นอกระบบเพื่อไปใช้หนี้เก่า
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ ยังเผยถึงความน่ากลัวของ “หนี้นอกระบบ” ว่า การที่เรากู้หนี้นอกระบบ นอกจากเจอกับดอกเบี้ยแบบลอยตัวแล้ว เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่ปล่อยกู้ให้เรา มีแหล่งเงินมาจากที่ไหน ซึ่งอาจจะมาจากการทำธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ ซึ่งถ้าหากเข้าไปพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้ ก็อาจจะยากที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ได้ทันท่วงที เพราะการสืบหาเกี่ยวกับเครือข่ายกู้เงินนอกระบบได้ทันทีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
อีกทั้ง คนที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบ มักรู้ว่าคนที่กู้เงินนอกระบบมักอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรจะเสียและยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินกู้มาใช้ทันเวลา ทำให้ในการกู้เงินนอกระบบมักมีกลโกงที่บอกเงื่อนไขการกู้เงินแบบกำกวมๆ หรือทำให้สับสน ทำให้สุดท้ายแล้ว ผู้กู้จะไม่รู้เลยว่าตอนนี้เป็นหนี้อยู่เท่าไรกันแน่ เพราะคนปล่อยกู้คือคนเดียวที่จะตีความข้อตกลงนั้นได้ ทำให้ผู้กู้กลายเป็นแค่ลูกไก่ในกำมือ
ที่มา : ธปท., สภาพัฒน์, Krungthai COMPASS, ธนาคารไทยพาณิชย์, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney