ปัจจัยภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างชัดเจน โดยมีปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ฉุดรั้ง การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย ดั่งปรากฏข่าว : คนไทยพับแผนซื้อบ้าน อีก 5 ปี ค่อยคิดใหม่ (คลิกอ่าน)
ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี่เอง มีผลโดยตรงต่อตลาดซื้อ-ขายที่ดินในภาพรวมด้วยเช่นกัน ล่าสุด REIC ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ออกรายงาน ดัชนีราคาที่ดินเปล่า ก่อนการพัฒนาทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ว่า “ราคาที่ดินเปล่า” ยังคงมีการปรับตัวขึ้นในทิศทางที่ชะลอตัวลง
ซึ่งมีดัชนีอยู่ที่ 398.2 จุด แม้เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่เป็นตัวเลขที่ลดลงจากไตรมาสแรก ปี 2567 และเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 (ปี 2558-2562) ที่มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 14.8% ต่อไตรมาส
เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและการขอสินเชื่อของผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้พัฒนาโครงการลดซื้อที่ดินเพื่อสะสม เพราะไม่ต้องการเพิ่มต้นทุน จากการถือครองที่ดินที่ต้องแบกการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้การซื้อ-ขายที่ดินทำเล กทม.-ปริมณฑล ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่าโซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ดังนี้
ทั้งนี้ จากแนวโน้มราคาที่ดินดังกล่าว REIC สะท้อนว่าที่ดินที่อยู่บริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเมือง ที่เกิดจากการพัฒนาขยายตัวของโครงการระบบถนนทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และโครงการขนส่งมวลชน
ระบบรางทั้งเส้นทางใหม่และส่วนต่อขยาย ซึ่งสร้างความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออกเมืองได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับราคาที่ดินบริเวณชานเมืองยังคงมีราคาไม่สูงมากนัก และผู้ประกอบการสามารถพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบที่สอดคล้องกับความสามารถในการซื้อของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบได้ และยังได้ทำการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมในพื้นที่ชานเมืองอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พื้นที่ชานเมืองเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการหาซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาย่อมเยาลง จึงทำให้ผู้ประกอบการได้เข้าพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองมากขึ้น
ขณะที่ดินโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งเป็นโซนที่มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 269.1% ก็ส่งผลให้ทำเลที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของเมืองมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดความต้องการที่ดินมากขึ้น ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ได้แก่ ตลิ่งชัน-บางแค-ภาษีเจริญ-หนองแขม-ทวีวัฒนา-ธนบุรี-คลองสาน-บางพลัด-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ ต่อเนื่องไปจนถึงนครปฐม
ที่มา : REIC
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney