ครม.ตรึงค่าไฟ 4.18 บาทถึงสิ้นปี กัดฟันสู้ต่อเพดานขายดีเซล 33 บ.ถึง 31 ต.ค.นี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ครม.ตรึงค่าไฟ 4.18 บาทถึงสิ้นปี กัดฟันสู้ต่อเพดานขายดีเซล 33 บ.ถึง 31 ต.ค.นี้

Date Time: 24 ก.ค. 2567 07:45 น.

Summary

  • ครม.ไฟเขียวตรึงค่าไฟ 4.18 บาทถึงปลายปี พร้อมกำหนดเพดานขายดีเซล 33 บาทต่อลิตร ไปถึง 31 ต.ค.นี้ "พีระพันธุ์" ชี้ตรึงราคาดีเซลถึงสิ้น ต.ค.เป็นระยะเวลาที่กองทุนน้ำมันจะรับภาระไหว

Latest

ย่ำแย่ ปีการศึกษา 2567 กู้ "กยศ." พุ่งเป็นประวัติการณ์

ครม.ไฟเขียวตรึงค่าไฟ 4.18 บาทถึงปลายปี พร้อมกำหนดเพดานขายดีเซล 33 บาทต่อลิตร ไปถึง 31 ต.ค.นี้ เร่งจัดหาขุมพลังงานใหม่ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หวังมีก๊าซธรรมชาติใช้ไปได้อีก 25 ปี ค่าไฟฟ้าลงมาอยู่ที่หน่วยละ 3 บาทกว่า "พีระพันธุ์" ชี้ตรึงราคาดีเซลถึงสิ้น ต.ค.เป็นระยะเวลาที่กองทุนน้ำมันจะรับภาระไหว ก่อนคุยมาตรการภาษีช่วยเหลือในระยะต่อไป

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยนายกรัฐมนตรีโพสต์ในสังคมออนไลน์เพิ่มเติมว่า ครม.รับทราบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ซึ่งเดิม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. กำหนดเพดานราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร แต่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ก.ค.นี้ โดยให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร แต่อัตราการชดเชยต้องไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ในช่วงเวลา 4 เดือน (ก.ย.-ธ.ค.67) ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าเดิม ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค.นี้ ประกอบด้วย

1.บริหารจัดการอัตราค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยให้อยู่ที่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย

2.ตรึงอัตราค่าไฟฟ้า 4.18 บาทต่อหน่วย

และ 3.ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลราคาพลังงาน โดยในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2567 (ก.ย. -ธ.ค.) ให้คงอัตราค่าไฟเท่าเดิมที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

รวมทั้งมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ขณะที่การใช้หนี้คืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) ค่าไฟที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ก็เป็นการทยอยใช้หนี้ส่วนนี้คืนให้กับ กฟผ.อยู่แล้ว แต่เป็นการทยอยใช้คืน ไม่ใช่การคืนหนี้ทั้งก้อนเป็นก้อนใหญ่ ที่จะกระทบกับค่าไฟของประชาชน

ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ครม.รับทราบการกำหนดเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาตามที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะรับภาระได้ โดยจะตรึงเพดานที่ราคานี้ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 หลังจากนั้นก็จะดูสถานการณ์และมาตรการที่จะดูแลราคาน้ำมันต่อเนื่อง โดยจะหารือกับกระทรวงการคลังที่อาจจะมีการใช้แนวทางการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเข้ามาเป็นมาตรการเสริม หรืออาจจะมีมาตรการอื่นๆเข้ามาช่วยตรึงราคาน้ำมันเพิ่มเติม สำหรับเรื่องของการแก้กฎหมายในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันนั้น ตนเองเร่งทำกฎหมายในส่วนนี้อยู่ ซึ่งคาดว่าจะไม่ทันในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเสนอเข้าสภาฯตามขั้นตอนทางกฎหมายโดยเร็ว

“เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเราอยู่กันแบบนี้มา 50 ปีแล้ว ไม่มีกฎหมายที่จะกำหนดราคาน้ำมันของรัฐบาลเลย ทั้งที่กระทบกับประชาชนจำนวนมาก พอราคาน้ำมันแพงเราก็บ่นกัน แต่ข้อเท็จจริงคือราคาเนื้อน้ำมัน จริงๆในประเทศ 20 กว่าบาทต่อลิตรเท่านั้น แต่องค์ประกอบของราคาน้ำมัน 1 ลิตร ยังประกอบไปด้วยส่วนผสมของเอทานอล และไบโอดีเซล รวมทั้งมีภาษีในส่วนต่างๆ เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเราเสียอยู่ลิตรละ 5.99 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันจึงมาอยู่ที่ 38-40 บาทต่อลิตร ซึ่งในเรื่องนี้หากมีกฎหมายเราก็จะดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชนได้ และกฎหมายก็ต้องมาดูไปถึงอำนาจของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูไปควบคู่กันไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือแนวทางการลดราคาค่าไฟลดมาให้อยู่ในระดับ 3 บาทกว่าๆต่อหน่วยเช่นในอดีตที่จะต้องดำเนินการหาขุมพลังงานใหม่ โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง กล่าวว่า ไทยจะต้องเร่งเจรจากับกัมพูชาเพื่อนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาใช้ ซึ่งรัฐมนตรีใน ครม.ต่างแสดงความเห็นด้วยอย่างกว้างขวาง เพราะจะทำให้ได้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและมีปริมาณมากที่สามารถใช้ไปได้อีก 20 ปี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเพียงหารือกันในเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีวาระเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาในการนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามานำเสนอ ครม.ในครั้งนี้

ส่วนการตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ หน่วยละ 4.18 บาท กระทรวงพลังงานนำเสนอ ครม.ว่า ใช้วิธีให้ กฟผ. และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกันรับภาระเงินสะสมคงค้างสะสม สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน ส่วนการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย 300 หน่วยต่อเดือนที่ใช้ไม่เกิน โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย เหลือจ่าย 3.99 บาทต่อหน่วย คาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย 1,900 ล้านบาท ในเบื้องต้นจะใช้งบกลาง รายการสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของปี 2567 จ่ายให้.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ