“เหตุการณ์ที่หน้าจอของคอมพิวเตอร์กลายเป็นสีฟ้า” (Blue Screen of Death) ซึ่งเกิดขึ้นกับเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) ทำให้ไม่สามารถทำรายการใดๆ หรือเรียกข้อมูลใดๆได้ ในช่วงวันศุกร์ที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นอีกหนึ่งในสัญญาณเตือนสำหรับวงการไอทีและภาคธุรกิจเอกชนทั่วโลก เพราะยิ่งนับวัน คนทั่วโลกของเราต่างพึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุมาจากการอัปเดตที่ผิดพลาดของซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยของ บริษัท CrowdStrike ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่มีจุดเด่นในการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งการอัปเดตทำให้เซนเซอร์ที่ตรวจจับภัยคุกคามสับสน และส่งผลให้เกิดการปิดระบบ และหน้าจอกลายเป็นสีฟ้า ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟต์ (Microsoft) เกิดปัญหาระบบ เช่น สายการบิน ประกันภัย โรงพยาบาล และการซื้อขายหุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ ล่มไปทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเราด้วย
ทั้งนี้ เมื่อพบความผิดพลาดขึ้น ภายในเวลา 1 ชั่วโมงกว่าๆ CrowdStrike ได้เร่งแก้ไข และแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงวิธีแก้ไขปัญหา แต่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็ลุกลามไปแล้วเป็นมูลค่าที่สูงมาก
ซึ่งในประเทศไทยนั้น หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ เช่น สนามบิน โรงพยาบาล ฯลฯ ได้เร่งแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าวเสร็จสิ้น ในขณะที่กระทรวงดีอียืนยันว่าไม่กระทบต่อระบบอินเตอร์เน็ต และการสื่อสาร รวมทั้งระบบควบคุมการบินในประเทศไทย ขณะที่ในส่วนของแอปพลิเคชันธนาคารในมือถือ “มิสเตอร์พี” ได้รับการยืนยันจากแบงก์ชาติว่า ได้สอบถามธนาคารพาณิชย์แล้ว พบว่าการโอนเงินออนไลน์ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะพบว่าเป็นความผิดพลาดของซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย หลายคนคิดว่ากรณีดังกล่าวอาจจะเกิดมาจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ การเจาะเข้าสู่ระบบของบรรดาแฮกเกอร์ หรือมิจฉาชีพเพื่อล้วงข้อมูล หรือร้ายแรงถึงขั้นเข้าควบคุมเครื่องเหมือนที่ทำแบบโทรศัพท์มือถือ
แม้ว่า CrowdStrike ออกมาปฏิเสธว่า “ไม่ได้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น” แต่ท่ามกลางการใช้ AI ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม ทุกฝ่ายอาจจะต้องมีแผนสำรองเพิ่มขึ้น ทั้งระบบการป้องกันปราบปราม และมีระบบสำรองเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสียหายของระบบเศรษฐกิจ หากเกิดเหตุการณ์ในรูปแบบใหม่ๆในอนาคต
นอกจากนั้น เหตุการณ์นี้ยังทำให้นึกย้อนไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ที่ทุกคนต่างกังวลกับการเกิดปัญหา y2k หรือ Year 2000 เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ในสมัยก่อนใช้การบันทึกเลขปี ค.ศ.เพียงแค่ 2 หลักท้าย แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2000 ก็กลัวกันว่าระบบจะบันทึกเป็นปี 00 ซึ่งจะกลับไปสู่ปี 1990 แทนที่จะเป็นปี 2000 และก่อปัญหาในองค์กรและธุรกิจต่างๆที่ใช้คอมพิวเตอร์ เช่น การปรับตัวเลขยอดเงินในบัญชีธนาคาร แต่สุดท้ายโลกรู้ตัวก่อน และแก้ปัญหาผ่านมาได้อย่างดี
บทเรียน “จอฟ้า” ครั้งนี้ น่าจะช่วยให้ “กระตุกต่อมคิด” ให้มองไปข้างหน้า โดยเฉพาะวันเวลาที่คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ทำได้มากกว่าที่คิด ความผิดพลาดของมนุษย์ครั้งเดียว อาจจะสร้างปัญหาใหญ่โตต่อมวลมนุษยชาติ “เมื่อเราไม่เคยคิดว่าจะมีโลกจริง และโลกเสมือนที่แยกกันไม่ได้ จาก “นิยายวิทยาศาสตร์” ก็อาจกลายเป็นจริงได้เช่นกัน”.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม