ทำอย่างไร? เราถึงจะอยู่รอดในยุค Silent Recession แม้เศรษฐกิจยังไม่ “ถดถอย” แต่รู้สึกแย่กว่าโควิด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำอย่างไร? เราถึงจะอยู่รอดในยุค Silent Recession แม้เศรษฐกิจยังไม่ “ถดถอย” แต่รู้สึกแย่กว่าโควิด

Date Time: 19 ก.ค. 2567 13:38 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ทำอย่างไร? เราถึงจะอยู่รอดในสภาวะ Silent Recession แม้เศรษฐกิจยังไม่ได้ “ถดถอย” แต่คนไทยรู้สึกว่า “แย่” กว่าโควิดด้วยซ้ำ! ค่าครองชีพสูงกว่ารายรับ เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย กดดันแรงซื้อ ด้านกลุ่มการเงินดัง แนะลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เร่งเก็บเงินสำรอง เตรียมพร้อมรับสภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจอย่างเงียบๆ 

Latest


แม้แนวโน้ม "เศรษฐกิจไทย" ปี 2567 ยังคงถูกคาดการณ์ว่า จะขยายตัวได้จากปีก่อนหน้า แต่ก็ต้องยอมรับว่า เราโตไม่ทันเพื่อน ซึ่งมาจากหลายเหตุผล ทั้งการฟื้นตัวของการค้าโลก และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีที่ล่าช้า จากเหตุการเมืองป่วน ทำให้การลงทุนภายในประเทศชะลอตัว

เจาะ GDP ไตรมาสแรกของปี ขยายตัวแค่ 1.5% สะท้อนภาพความยากเย็น ที่จะเข็นให้เศรษฐกิจขยายตัวเกิน 3% อย่างความหวังเริ่มแรก ขณะที่หลายสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ ระบุ ดูจากทิศทางแล้ว ปีนี้ เศรษฐกิจไทย อาจโตต่ำ 2% ซึ่งเป็นการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ในความเป็นจริงที่เจ็บปวดกว่าคือ ถูกฟันธงว่าศักยภาพของเราในอนาคตก็อาจจะโตได้เท่านี้! ไม่ว่าปีไหนๆ ท่ามกลางประเทศอื่นๆ รอบบ้านอย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฟื้นเร็วและโตแกร่ง!  

“Silent Recession” หรือ การถดถอยของเศรษฐกิจอย่างเงียบๆ 

ตัดภาพมาที่ “ผู้บริโภค” อย่างเราๆ อย่างที่บอกแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ และตามข้อมูลไม่เกิดการถดถอยมานานนับตั้งแต่ปี 2020 ที่เกิดโควิดครั้งใหญ่ แต่หลายคนกลับรู้สึกว่าสถานการณ์แย่เทียบเท่า หรือแย่กว่าช่วงโควิดเสียอีก เรื่อยไปจนถึงการนำไปเปรียบเทียบกับ วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ว่าสิ่งที่เผชิญอยู่ไม่แตกต่างกัน 

ขณะกลุ่มธุรกิจ ชี้ว่า แม้วิกฤติครั้งนี้จะมองดูผิวเผินไม่ได้รุนแรงเท่าปี 2540 แต่นั่นก็เพราะว่าปี 2540 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มองเห็นความเสียหายได้ชัดเจน แต่ในวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเริ่มชัดเจนในช่วงโควิด-19

ซึ่งสถานการณ์ และความรู้สึกดังกล่าว ถูก EDGE by KKP (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) ขยายความไว้ว่า คือนิยามของ “Silent Recession” หรือ การถดถอยของเศรษฐกิจอย่างเงียบๆ 

สาเหตุของ Silent Recession มาจากปัจจัยหลักๆ กล่าวคือ การที่ “ต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มของรายรับ” โดยค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง รวมไปถึงค่าอาหาร ต่างปรับตัวขึ้นด้วยอัตราที่มากกว่าเงินได้ 

ทำให้หลายคนมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ยิ่งทำให้คนที่มีภาระต้องดูแลคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือผู้สูงอายุได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ หลายต่อหลายคนรู้สึกถึงแรงกดดันทางการเงิน และไม่สามารถที่จะอดออมเงินได้ 

3 ทางรอด รับมือเศรษฐกิจ

KKP Research ยังวิเคราะห์ว่า ยอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตกำลังเร่งตัว ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ในอนาคตยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะหนึ่งในตัวแบกเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยวก็ส่งผลดีโดยตรงเพียงแค่ไม่กี่ประเภทธุรกิจ แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ที่หวังพึ่งการบริโภคในประเทศยังคงอยู่ในภาวะ “ซบเซา” 

อีกทั้งความเหลื่อมล้ำของสังคมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกดีไปกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น หรือแม้แต่ราคาบ้านหรือคอนโดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินเอื้อม ในขณะที่ค่าเช่าที่ต้องจ่ายในทุกเดือนก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตามอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นตัวกดความรู้สึกว่ากำลังจมอยู่ในวิกฤติ 

แต่คำถามสำคัญคือ เมื่ออยู่ใน Silent Recession เราควรจะรับมืออย่างไร ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับขึ้นมาได้เมื่อไร? ทางออกอาจเป็น 3 ข้อ ดังนี้ 

  • ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง 
  • เก็บเงินสำรองให้สามารถเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในระยะเวลา 3-6 เดือน สำหรับใช้ในเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด 
  • ลงทุนเพื่อให้สินทรัพย์ของเราเติบโตสู้กับเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ตามทฤษฎีเงินสำรองฉุกเฉิน คือ ประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เช่น ถ้าคุณมีเงินเดือน 50,000 บาท มีค่าใช้จ่ายคงที่ 35,000 บาทต่อเดือน (ค่าอาหารรายเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ฯลฯ) เงินสำรองที่คุณควรมีเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินควรอยู่ในช่วง 105,000-210,000 บาท (35,000 x 3 และ 35,000 x 6) แต่หากคุณประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน อาจมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 12 เดือน นั่นคือ 420,000 บาทนั่นเอง (35,000 x 12). 

ที่มา : KKP 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ