สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ณ สำนักงาน รฟม. ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
สุริยะ กล่าวว่า พิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ภาครัฐ และเอกชน จะร่วมกันเดินหน้างานก่อสร้างโครงการฯ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินทั้งหมดและลอดผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ตนจึงได้เน้นย้ำให้ รฟม. ดำเนินการส่งมอบเข้าพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนงานและตามระเบียบกฎหมาย กำกับควบคุมงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นโบราณสถาน ชุมชน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
ทั้งนี้ ตนได้ให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการในเดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป
โครงการดังกล่าว จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งบรรเทาปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนช่วยขยายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล และตนยืนยันว่าจะดำเนินการให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสายด้วย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ในปีแรกของการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกในปี 2571 นั้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และจะมีผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกประมาณ 400,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่