“ปัจจุบัน บริษัทดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 32 แล้ว มีพนักงานภายในองค์กรประมาณ 470 คน ต้องยอมลดสัดส่วนกำไรเพื่อให้ได้มีปริมาณงานเข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กร เป็นการรักษาสถานะบริษัทให้คงอยู่และให้ทุกคนในบริษัทยังมีงานทำ”
“พนักงานภายในองค์กรประมาณ 215 คน เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีการชะลอตัวอย่างมาก จนส่งผลกระทบให้บริษัทไม่มีการเรียกสินค้าเข้าโครงการต่างๆ (ไม่มียอดรายการในการผลิตงาน) ไปจนถึงรายการที่ผลิตแล้วเลื่อนส่งสินค้าแบบไม่มีกำหนด”
นี่คือประโยคบอกเล่าบางส่วนของกลุ่มธุรกิจ SMEs ในห่วงโซ่ซัพพลายภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ทั้งบริษัทประเภทผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ออกแบบ โรงงานวัสดุก่อสร้าง กลุ่มผู้ประกอบการด้านการตกแต่งสถานที่และการจัดสวน
ซึ่งบางแห่งเผยว่า ดำเนินธุรกิจมายาวนานมากกว่า 60 ปี บางรายเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เพิ่งเปิดกิจการมาได้ไม่ถึง 10 ปีเท่านั้น แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือต้นทุนกิจการที่กำลังแบกชีวิตพนักงานตั้งแต่หลับสิบไปจนถึงห้าร้อยชีวิต ให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
จนนำมาสู่การรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ห้มากขึ้น อย่างเร่งด่วน ก่อนจะเกิดผลกระทบลุกลามจนนำไปสู่การปลดคนงาน ส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศในวงกว้าง
โดยในแถลงการณ์ กลุ่ม SMEs อสังหาฯ ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบในเรื่องของปริมาณงานที่ได้ต่อเนื่อง จากตลาดอสังหาฯ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด บางแห่งการเงินเริ่มมีความฝืดเคือง เนื่องจากภาระเงินกู้และดอกเบี้ยธนาคารที่กู้ยืมในช่วงโควิด-19
ทำให้พนักงานภายในบริษัทขาดสภาพคล่องในการดำเนินชีวิต ส่งผลกระทบทั้งบริษัทและพนักงานทุกครัวเรือน เพราะผลกระทบต่อเนื่อง จากตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว แผนงานชะลอในทุก Developer ทำให้รายรับลดลง
บ้างได้รับผลกระทบหนักจากลูกค้าค้างชำระหนี้การค้าเป็นเวลายาวนานเสี่ยงหนี้สูญ จนต้องกู้เงินหมุนเวียนเป็นจำนวนมากเพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอ
ใจความที่สำคัญ คือ กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ระบุว่า วิกฤติที่เผชิญอยู่ในขณะนี้รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยเผชิญมา และเทียบได้กับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ถึงแม้จะมองดูผิวเผินไม่ได้รุนแรงเท่าปี 2540
นั่นเพราะว่าปี 2540 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มองเห็นความเสียหายได้ชัดเจน แต่ในวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเริ่มชัดเจนในช่วงโควิด-19 และในครั้งนั้นผู้ประกอบการได้ปรับตัวรอบใหญ่ไปแล้ว ทั้งการปรับโครงสร้างพนักงาน การปรับลดสวัสดิการ ลดเวลาการทำงาน การขยายฐานลูกค้าใหม่
อย่างไรก็ตาม ภาระเงินกู้และดอกเบี้ยธนาคารที่กู้ยืมในช่วงโควิด-19 ยังคงส่งผลให้การเงินในปัจจุบันมีความฝืดเคือง ซึ่งหลายแห่งพยายามบริหารจัดการและรับมืออย่างเต็มกำลัง
แต่หากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาฯ ยังไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะส่งผลกระทบลุกลามไปสู่การปลดพนักงานก็เป็นได้ ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลต่อฐานกำลังสำคัญของประเทศ เนื่องจากภาค SMEs ถือเป็นผู้จ้างงานที่คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของประเทศไทย
จึงอยากส่งเสียงถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยข้อเสนอแนะ ประกอบไปด้วย 7 ข้อเรียกร้อง ดังนี้
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมา รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณา มองว่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งอยากจะร้องขอภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการทำงาน สนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง เพื่อบรรเทาปัญหาที่อาจจะก่อให้เกิดวิกฤติในกลุ่มของตนในอนาคตอันใกล้นี้ หลังปัจจุบันผู้ประกอบการหลายภาคส่วนได้ทำการปลดพนักงานไปแล้วจำนวนมาก บางแห่งลดพนักงานไปมากกว่าครึ่ง.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney