นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 87.2 ลดลงจาก 88.5 ในเดือน พ.ค. ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และมีค่าดัชนีต่ำสุดรอบ 24 เดือน เนื่องจากปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะจากความต้องการในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อโดยรวมลดลง
“ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง และเอสเอ็มอีก็ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนในกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ และยังปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้า ยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง”
ที่สำคัญสิ่งที่น่าตกใจคือการปิดตัวของเอสเอ็มอีที่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้ เห็นได้จากตัวเลข 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีเอสเอ็มอีปิดตัว 600 แห่ง มูลค่าลงทุนรวม 27 ล้านบาท ขณะที่ 5 เดือนปีที่ผ่านมามีการปิดโรงงาน 358 แห่ง มูลค่าลงทุนรวม 117 ล้านบาท เป็นการบ่งชี้ว่า มีโรงงานขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีปิดตัว ทำให้การเลิกจ้างเพิ่มขึ้น รัฐบาล จะต้องมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเอสเอ็มอี เพื่อให้สินค้ามีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการคาดการณ์ความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวลดลง จาก 95.7 ในเดือน พ.ค. ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่