ช่วงปี 2552-2562 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างของไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.1% ของ GDP ซึ่งงานก่อสร้าง 56:44 คือ งานก่อสร้างที่มีผู้ว่าจ้างเป็นภาครัฐ และงานก่อสร้างภาคเอกชน โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในงานก่อสร้าง โครงการที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล และอาคารสำนักงาน เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวลอปเมนต์, บมจ.ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ช.การช่าง ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวม 24% ของกลุ่มธุรกิจนี้ และครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 70%
จับสัญญาณธุรกิจดังกล่าว ท่ามกลางความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ข้อมูลวิจัย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) เผยว่า ธุรกิจก่อสร้างในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มีการปรับตัวลดลงจากปีก่อน มากถึง 17.3%
ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ เนื่องจากกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ใช้เวลานาน ทำให้การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ ต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดการเดิม ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงต่อเนื่อง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
“การลงทุนด้านการก่อสร้างภาครัฐในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า 155,979 ล้านบาท ลดลง 30.4%”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี รัฐบาลจะเร่งผลักดันการเบิกจ่ายงบลงทุนด้านการก่อสร้างอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ด้านการลงทุนด้านการก่อสร้างภาคเอกชน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า 138,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% หากแต่เป็นความเคลื่อนไหวการลงทุนก่อสร้างใหม่ ในหมวดอาคารสำนักงาน โรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่โครงการที่อยู่อาศัยอย่างเก่า ตอกย้ำผลกระทบจากปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ในระดับเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดอสังหาฯ กลุ่มที่อยู่อาศัยชะลอตัว โดยการก่อสร้างคอนโดฯ ลดลง 14% ขณะ บ้านแนวราบ ลดลง 7.2% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ธุรกิจก่อสร้างไทยยังติดตามปัจจัยลบ เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านต้นทุนการก่อสร้าง จากทิศทางราคาพลังงานตลาดโลก ได้แรงกดดันจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
รวมถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง ที่หากยืดเยื้อก็อาจส่งผลให้โปรเจกต์ก่อสร้างต่างๆ หรือการลงทุนใหม่ของภาครัฐ เกิดความล่าช้าขึ้นได้
รวมถึงการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง และการฟื้นตัวล่าช้าของกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจก่อสร้างเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ได้
ส่องรายได้ของผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ในตลาดหุ้นไทย (SET) ช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 แม้จะมีตัวเลขปรับเพิ่มขึ้น แต่พบว่าความสามารถในการทำกำไร ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.4% อันเนื่องมาจากต้นทุนการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตรากำไรสุทธิของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และสะท้อนถึงความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุน และการรักษาระดับความสามารถการแข่งขันอีกด้วย
ที่มา : วิจัยกรุงศรี, วิจัย LH
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney