“หนี้ครัวเรือนไทย” พุ่ง 16.37 ล้านล้าน แตะ 90.8% ของ GDP 1 ใน 3 เป็นหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“หนี้ครัวเรือนไทย” พุ่ง 16.37 ล้านล้าน แตะ 90.8% ของ GDP 1 ใน 3 เป็นหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

Date Time: 16 ก.ค. 2567 10:25 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย วิจัยกรุงศรี ชี้ แรงส่งการบริโภคคนไทยแผ่วลง ความเชื่อมั่นอ่อนแอ หลัง “หนี้ครัวเรือน” สูง 16.37 ล้านล้าน แตะ 90.8% ของ GDP พบ 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่รัฐบาลเตรียมปรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จับตาไทม์ไลน์ความชัดเจน กระตุ้นกำลังซื้อได้หรือไม่?

บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยล่าสุด โดยวิจัยกรุงศรี ระบุว่า ขณะนี้การบริโภคของภาคเอกชน หรือ ครัวเรือนไทย มีสัญญาณชะลอตัว โดยวัดจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แล้ว ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน แตะ 58.9 ซึ่งต่ำจาก 60.8 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลหลายปัจจัย ได้แก่ 

  • ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยลดการอุดหนุนจากรัฐบาล 
  • ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า กระทบต่อรายได้และกำลังซื้ออ่อนแอลง 
  • ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ


“ใจความสำคัญ คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 สะท้อนถึงแรงส่งการบริโภคภาคเอกชนที่แผ่วลง หลังจากที่เติบโตค่อนข้างสูงในไตรมาสแรก”

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี วิเคราะห์ต่อว่า ต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปีถึงทิศทางข้างหน้า แม้ยังมีปัจจัยบวกช่วยหนุนการบริโภค เช่น การเติบโตของภาคท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยวเมืองรอง, รายได้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยลงหลังจากผ่านพ้นภาวะภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่มเปราะบาง 

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 16.37 ล้านล้าน แนะจับตา ไทม์ไลน์ "เงินดิจิทัล" หลังปรับรายละเอียดโครงการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นกับดักสูงสุดต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย หากแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งข้อมูลล่าสุดจาก ธปท. ณ สิ้นไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 16.37 ล้านล้านบาท หรือ 90.8% ของ GDP 

นอกจากนี้ ธปท. ชี้ว่า 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ หรือเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างสูง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทำได้ยาก และต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ประกอบกับมีแรงงานราว 9 แสนคนอยู่ในภาคการผลิตที่เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว 

ส่วนปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นั้นอาจยังคงต้องติดตามรายละเอียดต่อไป สำหรับกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 หลังล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาวาระที่ 1 แล้วในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยกำหนดกรอบวงเงินรวมที่ 3.75 ล้านล้านบาท และเป็นงบขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น -4.5% ของ GDP   

ส่วนของแหล่งเงินที่มาจากงบฯการบริหารจัดการวงเงิน 1.323 แสนล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามเพราะยังขาดรายละเอียดและความชัดเจน สำหรับไทม์ไลน์สำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเดือนนี้ วันที่ 24 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรีจะแถลงรายละเอียด และวันที่ 30 กรกฎาคม มีแผนนำเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ