“เศรษฐกิจไทยโตต่ำ” กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระดับชาติ ที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และฉุดรั้งความเชื่อมั่น ศักยภาพการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ สะท้อนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2566 ที่มีมูลค่าต่ำสุดในอาเซียนที่ 2,969 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ครึ่งแรกของปี 2567 นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้วมูลค่า กว่า 100,000 ล้านบาท
ส่วนคนไทยแม้ “แบงก์ชาติ” จะออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นสู่ระดับศักยภาพที่ 3% ในปีหน้า ก็ไม่ได้ทำให้หลายคนรู้สึกถึงแรงกดดันด้านค่าใช้จ่าย และภาระหนี้ที่น้อยลง เพราะเศรษฐกิจดีขึ้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามหลายคนกลับรู้สึกว่า “เศรษฐกิจแย่ลง” กว่าช่วงโควิด ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุด เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาชี้แจงประเด็นข้อสงสัยของสังคม ว่าแบงก์ชาติมองเศรษฐกิจไทยดีเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ในงาน “Meet the press ผู้ว่าการ พบสื่อมวลชน” ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ในช่วงที่ผ่านมาแบงก์ชาติ ทราบดีว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น ไม่ได้สะท้อนความลำบากของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อดูดัชนีการฟื้นตัวของรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เทียบกับค่าครองชีพ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันคนไทย “รายได้ฟื้น” แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด
โดยลูกจ้างนอกภาคเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ รายได้เพิ่มขึ้น 8.9% และ 9.2% ทำให้ดัชนีรายได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 108.9 และ 109.2 ตามลำดับ จากระดับ 100 ในปี 2562 แม้ภาพรวมรายได้คนไทยจะเพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับก่อนโควิด แต่ดัชนีภาพรวมดังกล่าว ไม่ได้สะท้อนความลำบากของประชาชน เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องเผชิญหลุมรายได้ที่หายไปมหาศาลในช่วงโควิด ในขณะที่ค่าครองชีพขยับเพิ่มขึ้นตามรายได้ 7.15% มาอยู่ที่ 107.2
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายได้ของผู้มีงานทำทั้งหมด 40 ล้านคนในระบบ จำแนกตามประเภท พบว่า รายได้แรงงานในภาคการผลิตและการท่องเที่ยว ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ด้านเงินเฟ้อแม้ว่าจะปรับตัวลง แต่การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ไม่ได้หมายความว่า ราคาของถูกลง เนื่องจากราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน โดยเฉพาะราคาพลังงาน อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้แม้รายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด แต่คนไทยก็ยังต้องเผชิญกับภาระหนี้สิน และแรงกดดันด้านการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
“เราทราบดีว่า ต่อให้เราพูดว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นสู่ระดับศักยภาพ ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ลำบาก ตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจมันซ่อนความทุกข์ ความลำบากของคนไว้ไม่น้อย”
ผู้ว่าแบงก์ชาติเน้นย้ำว่า ถ้าอยากให้เศรษฐกิจไทยโตมากกว่านี้ ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเป็นที่มาว่าต่อให้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ผลิตภาพเท่าเดิม เศรษฐกิจก็จะโตอยู่แค่ในระดับศักยภาพที่ 3% ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับรายได้ประชากร ความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อแยกดูโครงสร้างสัดส่วน GDP ไทยรายสาขา พบว่า ภาคบริการมีน้ำหนักมากที่สุดถึง 61% ของ GDP ในขณะที่ภาคการผลิตมีน้ำหนักอยู่ที่ 25% โดยภาคบริการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มากถึง 9% ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยว ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เท่ากับระดับก่อนโควิด ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. 2567 อยู่ที่ 15 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 16.7 ล้านคน การที่เศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคที่มีการฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จะเห็นได้ว่าประเทศที่พึ่งพาการส่งออก แต่มีการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในตลาดโลกจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า
นอกจากนี้ ภาคการผลิตไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุนแรงขึ้น จากสภาพแวดล้อม การแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนไป กลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญ กำลังเจอกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาดไทย
กลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง
(เช่น สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในไทย / สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออก) มีดังนี้
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney