ระเบิดเวลาเศรษฐกิจ “เกิดน้อย แก่มาก” เมื่อคนไทยไม่อยากมีลูก เลี้ยงเด็ก 1 คน ค่าใช้จ่ายแพง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ระเบิดเวลาเศรษฐกิจ “เกิดน้อย แก่มาก” เมื่อคนไทยไม่อยากมีลูก เลี้ยงเด็ก 1 คน ค่าใช้จ่ายแพง

Date Time: 12 ก.ค. 2567 10:37 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • นักวิชาการ TDRI ชี้ ระเบิดเวลาเศรษฐกิจ “เกิดน้อย แก่มาก” เมื่อไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ อัตราเด็กแรกเกิดต่ำ คนไทยไม่อยากมีลูก เพราะเลี้ยงเด็ก 1 คน ค่าใช้จ่ายแพง ยิ่งพ่อแม่ “คาดหวัง” ต้นทุนยิ่งแพง ห่วงอนาคตขาดแคลนแรงงาน แนะรัฐปฏิรูประบบการศึกษา เรียนที่ไหนก็ดีเหมือนกัน, ขยายอายุเกษียณ และเพิ่มแรงจูงใจแรงงานข้ามชาติ

Latest


สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปข้อมูล จำนวนคนไทย ณ กลางปี 2567 ว่า ทั้งประเทศไทยมีประชากร ประมาณ 66 ล้านคน และกำลังประสบกับ “วิกฤติเด็กเกิดน้อย” แต่มีสัดส่วนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% อยู่ที่เกือบ 14 ล้านคน

สะท้อนโครงสร้างประชากรไทยได้เข้าสู่นิยามคำว่า “สังคมสูงวัย” อย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับประชากรวัยหนุ่ม-สาวลดลงอย่างมาก สร้างความท้าทายทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างน่ากังวล

ขณะ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุ ว่านี่คือ “ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ” ที่อาจทำให้อนาคตไทยจะเผชิญกับปัญหา แรงงานขาดแคลนมากขึ้น และเศรษฐกิจไม่ขยับ 

ย้อนสถิติการเกิดย้อนหลัง 10 ปีของกรมการปกครอง พบว่า เด็กแรกเกิดของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2557 มีเด็กเกิด 7.7 แสนคน เหลือ 5.1 แสนคนในปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะมีอายุยืนยาวมากขึ้นเรื่อยๆ พบสัดส่วนคนอายุร้อยปีเพิ่มขึ้นเร็วเช่นกัน 

ในบทความ TDRI หัวข้อ “ระเบิดเวลาประชากร : เกิดน้อย แก่มาก ความท้าทายอนาคตไทย” ดร.สมชัย ยังฉายภาพ และ ตอบคำถาม อะไรที่ทำให้คนไทยไม่อยากมีลูก? ว่า มีหลายสาเหตุที่คนไทยไม่อยากมีลูก 

การมีลูกคือเรื่องใหญ่ เมื่อค่าใช้จ่ายไม่ได้ถูกๆ 

เจาะด้านเศรษฐกิจพบว่า ต้นทุนในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพต้องมีค่าใช้จ่ายที่ “แพง” มากขึ้นเรื่อยๆ และจะยิ่งแพงมากขึ้นต่อไปอีกถ้าพ่อ-แม่มีความคาดหวังต่อลูกสูง 

เช่น ลูกจะต้องเรียนหนังสือในโรงเรียนชั้นดี หรือเรียนโรงเรียนนานาชาติ จะต้องเรียนพิเศษ ต้องมีความสามารถพิเศษ เล่นเปียโนได้ เป็นต้น 

พวกนี้เป็นต้นทุนของการเลี้ยงดูทั้งสิ้น ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้คู่สามีภรรยาที่ประเมินว่าตัวเองไม่พร้อมที่จะเลี้ยงลูกให้โตขึ้นมาตามที่คาดหวังเอาไว้ได้เลือกที่จะไม่มีลูกไปเลย

แน่นอนว่าวิกฤติเด็กเกิดน้อย และสังคมสูงวัย ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหา ขาดแคลน “วัยแรงงาน” รวมทั้งฐานะการคลังของภาครัฐทั้งรายได้และรายจ่าย 

ประเด็นที่ชวนคิดคือ เมื่อมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ “ป่วยติดเตียง” มากขึ้น หมายความว่า วัยแรงงานที่มีน้อยลงอยู่แล้ว ยิ่งขาดแคลนมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้บางส่วนต้องลดการทำงานลงเพื่อเอาเวลาไปดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงด้วย 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องแบกรับรายจ่ายการดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น ขณะที่ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะต่ำลงอย่างรวดเร็ว เพราะขาดแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยคุณภาพแรงงานก็เป็นอีกปัญหาที่สำคัญ

นักวิชาการ เสนอ ขยายอายุคนทำงาน-เปิดรับแรงงานข้ามชาติ 

ดร.สมชัย เสนอแนะว่า นอกจากเป็นหน้าที่รัฐที่จะต้องพัฒนาระบบการศึกษาให้โรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพที่ดีรวมถึงโรงเรียนรัฐที่ ‘ไม่ดัง’ ด้วย เพราะจะทำให้พ่อแม่รู้สึกมั่นใจว่าถ้ามีลูกๆ จะได้รับการศึกษาที่ดีโดยไม่ต้องจ่ายแพง จูงใจการมีลูก 

ไทยต้องมีนโยบายเชิงรุกจูงใจให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มากขึ้น เช่น การให้ผลประโยชน์ที่มากขึ้น สวัสดิการที่ดีขึ้น มีเรื่องของการเพิ่มทักษะ เพราะแม้ว่าจะเข้ามาในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ แต่ถ้าคนเหล่านี้มีศักยภาพพอ ภาครัฐหรือเอกชนสามารถฝึกทักษะให้จนกระทั่งขึ้นมาเป็นแรงงานมีฝีมือ และเป็นกำลังสำคัญให้กับไทยได้ในอนาคต

ขณะเดียวกัน การปรับแนวคิดบางอย่าง เช่น ให้ผู้สูงวัยทำงานมากขึ้น ซึ่งในภาคเอกชนวันนี้หลายแห่งมีอายุงานถึงแค่ 55 ปีเท่านั้น และแม้แต่ราชการที่ให้เกษียณตอน 60 ปี ก็จะต้องมีการขยายอายุให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มคนทำงานในระบบ ให้เศรษฐกิจไปต่อ.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ