ตลาดสินค้า-บริการ “คนสูงวัย” ไม่ง่าย! มีโอกาส แต่แข่งสูง ส่วนใหญ่รายได้ต่ำ คนรวยกระจุกตัวเมืองกรุง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลาดสินค้า-บริการ “คนสูงวัย” ไม่ง่าย! มีโอกาส แต่แข่งสูง ส่วนใหญ่รายได้ต่ำ คนรวยกระจุกตัวเมืองกรุง

Date Time: 11 ก.ค. 2567 14:59 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ส่องโอกาสทางธุรกิจ! เมื่อไทย เข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ ศูนย์วิจัยกสิกรคาด ภายในปี 2029 มูลค่าตลาดแตะ 2.2 ล้านล้านบาท โตปีละ 5.3% อาหารเพื่อสุขภาพ, ยา,ที่อยู่อาศัย และบริการผู้สูงวัย เติบโตแรง แต่เจาะตลาดไม่ง่าย เพราะกลุ่มศักยภาพมีน้อย คนรวยกระจุกแค่ในเมืองกรุง การใช้-จ่าย ขึ้นอยู่กับลูกหลาน เป็นหลัก

ปัจจุบันโลกของเรา มีประชากรเกิน 8,000 ล้านคนแล้ว และจะเพิ่มขึ้นไปถึง 9,000 ล้านคนในไม่กี่สิบปีข้างหน้า

ขณะ ข้อมูล ปี 2567 ประเทศไทย มีประชากรประมาณ 66 ล้านคน และกำลังประสบกับวิกฤติเด็กเกิดน้อย ขณะที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ คือมีสัดส่วนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรนี่เอง กลายเป็นเรื่องท้าทายในแง่สังคมและเศรษฐกิจ แต่อีกแง่ อาจกลายเป็นโอกาส ของธุรกิจสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า อีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2029) มูลค่าการใช้จ่ายของผู้สูงอายุไทย อาจมีการเติบโต มากถึง 2.2 ล้านล้านบาท หรือ เท่ากับ มีการโตเฉลี่ย 5.3% ต่อปี  ซึ่งคำนวณจาก จำนวนผู้สูงอายุที่จะ เพิ่มขึ้นจากราว 14 ล้านคน ในปัจจุบัน ไปอยู่ที่ 18 ล้านคน

ครอบคลุม 4 ตลาดใหญ่ๆ ที่จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ  ได้แก่ 

  • สินค้าเน้นสุขภาพ (37% ของการใช้จ่ายทั้งหมดในกลุ่มผู้สูงอายุ ) เช่น อาหารทางการแพทย์, Health Tech ,ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ  
  • สินค้าเน้นไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น Smart Home Devices /อุปกรณ์ช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน, อาหาร และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง หรือ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 
  • บริการ เน้นไลฟ์สไตล์ เช่น บริการดูแลสัตว์เลี้ยง, บริการทางการเงิน และ Entertainment สำหรับผู้สูงอายุ 
  • บริการเน้นสุขภาพ ได้แก่ ศูนย์โรคเฉพาะทาง, บริการดูแลผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 

“ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยในการบำบัดรักษา (Pet Healing) ส่งผลให้สินค้าและบริการที่น่าจะได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับ ธุรกิจที่อยู่อาศัย ข้อมูลปี 2023 ของ REIC พบว่า ปัจจุบันไทยมีบ้านสำหรับผู้สูงวัยเพียง 728 แห่งทั่วประเทศ รองรับผู้สูงอายุที่ได้เพียงราว 19,490 คนเท่านั้น การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิมก็น่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ช่วยรองรับความต้องการได้ “ 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดผู้สูงอายุมีแนวโน้มน่าสนใจมากขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ธุรกิจอาจมีความเสี่ยงจาก 2 เรื่องหลัก ๆ เนื่องจาก มีแนวโน้ม ว่า ตลาดจะแข่งขันรุนแรง เพื่อแย่งชิงลูกค้าที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ ในช่วง 2-3 ปีแรกของการเจาะตลาดผู้สูงอายุ เนื่องจาก ขนาดตลาดจะยังไม่ใหญ่มาก ตามจำนวนผู้สูงอายุไทยที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 23% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ส่งผลต่อกำลังซื้อที่จำกัด

ขณะที่ ผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่ พบว่ามักกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง นั่น ทำให้ธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้อาจต้องเผชิญการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่เข้มข้นจากคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน และญี่ปุ่น

นอกจากการปรับตัวของธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ การทำกลยุทธ์การตลาด (Marketing) ไปที่ลูก-หลาน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผู้ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการแทนผู้สูงอายุ โดยเน้นที่คุณภาพ/มาตรฐานของสินค้าและบริการ รวมถึงความคุ้มค่าด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งมีผลต่อต้นทุน 

เช่น สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มก็อาจต้องเพิ่มสารอาหารที่เหมาะสมกับวัยและโรคของผู้สูงอายุ ปรับบรรจุภัณฑ์ให้ใช้เปิด-ปิดง่าย เป็นต้น ฉะนั้น อาจเป็นความยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ