“รถยนต์ไฟฟ้า” ไทยโตแรง! ยอดจดทะเบียนต่อปีพุ่ง 1.9 แสนคัน ค่ายจีนครองส่วนแบ่ง BEV ยอดนิยมหลายรุ่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“รถยนต์ไฟฟ้า” ไทยโตแรง! ยอดจดทะเบียนต่อปีพุ่ง 1.9 แสนคัน ค่ายจีนครองส่วนแบ่ง BEV ยอดนิยมหลายรุ่น

Date Time: 11 ก.ค. 2567 10:32 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • เจาะตลาด “รถยนต์ไฟฟ้า” ไทยเติบโตแรง! คาด ยอดจดทะเบียนต่อปีพุ่ง 1.9 แสนคัน ค่ายจีนครองส่วนแบ่ง กลุ่ม BEV ยอดนิยมหลายรุ่น ขณะวิจัยกรุงศรี วิเคราะห์ จับตาแนวโน้ม อุตสาหกรรมแข่งดุในอนาคต เสี่ยงขาดแคลนชิป เพื่อการผลิตเป็นระยะๆ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า อาจยังไม่เพียงพอ

Latest


ต้องยอมรับว่า ภายใต้มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.0 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยพลิกโฉมเปลี่ยนแปลง และเพิ่มความนิยมสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

ข้อมูลยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง BEV (รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่)ในช่วงปี 2565-2566 มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 85,299 คัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 524.2% ขณะการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลออกมาตรการเฟส 2 “EV 3.5” (2567-2570) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้คึกคัก 

ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า แห่ลงทุนผลิต EV ในไทย 

เจาะข้อมูล สถาบันยานยนต์ รายงาน ว่า ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2567 มีผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่ได้สร้างโรงงานเสร็จแล้ว หรือกำลังอยู่ระหว่างการขึ้นไลน์ผลิต ประกอบด้วย 

  • ผู้ผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าประมาณ 14 ราย
  • ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ไฟฟ้า 2 ราย 
  • ผู้ผลิตรถโดยสารและรถบรรทุกไฟฟ้า 5 ราย 

ส่งผลให้มีกำลังการผลิต BEV โดยรวมอย่างน้อยประมาณ 600,000 คันต่อปี ที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ โดยจะเริ่มผลิตภายในปี 2567-2568 ซึ่งกำลังการผลิตดังกล่าว อยู่ในระดับที่สูงกว่ายอดผลิตขั้นต่ำที่ต้องผลิตชดเชยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศในช่วงปี 2565-2566 ตามเงื่อนไขการสนับสนุนการลงทุนของ BOI และมากกว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง XEV ในปี 2566 ที่ 1.7 แสนคัน ประมาณ 3 เท่า 

จึงคาดว่าจะมีกำลังการผลิตส่วนเกินรองรับการส่งออกได้มากขึ้นในอนาคต แม้ในช่วงปี 2567-2569 ผู้ผลิตจะยังเน้นที่ตลาดในประเทศเป็นหลักก็ตาม

คาดยอดจดทะเบียนรถใหม่ พุ่ง 1.9 แสนคัน/ปี 

ขณะ วิจัยกรุงศรี ออกบทวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ปี 2567-2569 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง การให้เงินอุดหนุนกระตุ้นกำลังซื้อ ทำให้ตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้ายังขยายตัวในอัตราสูง โดยคาดว่าจะมียอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์นั่งไฟฟ้า รวมเฉลี่ยปีละ 190,000 คัน เป็นยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง BEV เฉลี่ยปีละ 96,000 คัน (เร่งขึ้นจาก 80,000-90,000 คันในปี 2567) 

ประเด็นที่น่าสนใจ ยังพบว่าตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา โครงสร้างการผลิตและลงทุนรถยนต์นั่งในประเทศไทย เริ่มเปลี่ยนแปลง มีแบรนด์รถยนต์นั่งไฟฟ้า BEV สัญชาติจีน 4 รายที่ขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มแบรนด์รถยนต์ 10 อันดับแรก ที่มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งมากที่สุด 

ได้แก่ BYD, MG, NETA, GWM ที่อันดับ 3, 4, 7 และ 8 ตามลำดับ และมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณ 21.9% (เทียบกับปี 2564 ที่มีค่ายรถยนต์จีนเพียง 2 ราย ได้แก่ MG และ GWM ที่อยู่ในกลุ่ม Top 10 ในอันดับ 4 และ 10 ตามลำดับ)

ทำให้ในปี 2566 ค่ายรถยนต์จีนครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า BEV สูงสุดที่ 82.4% รองมาเป็นค่ายรถยนต์จากสหรัฐฯ ส่วนแบ่ง 11.1% 

เจาะ “รถยนต์ไฟฟ้า” ยอดนิยมของคนไทย 

โดยรถยนต์นั่งไฟฟ้า BEV ที่มีความนิยมมาก ส่วนใหญ่ยังเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่แพง และสามารถวิ่งได้ไกล ตัวอย่างรุ่นที่ได้รับความนิยม เช่น BYD ATTO 3, MG 4 Electric, NETA V และ ORA Good Cat ที่มีราคาขายปลีกประมาณ 1.1, 0.9, 0.6 และ 1.0 ล้านบาท ตามลำดับ และสามารถวิ่งได้ไกลถึง 420, 425, 320 และ 450 กิโลเมตรต่อ 1 รอบของการอัดประจุ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในระยะหน้า อาจเผชิญปัญหาแรงกดดัน ด้านการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนชิปที่ใช้ในการผลิตอยู่เป็นระยะ และการเพิ่มขึ้นของสถานีชาร์จและเครื่องอัดประจุที่อาจยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ณ เดือน ธ.ค. 2566 ไทยมีสถานีอัดประจุสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจำนวน 2,658 สถานี (+114.5%) และเครื่องอัดประจุ 9,694 เครื่อง (+159.3%) ทั่วประเทศ 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ