เศรษฐกิจฟื้นไม่ดี บ้าน-คอนโดฯ ยอดขายตก กระทบลาม ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ คนไทยงดซื้อ “สินค้าฟุ่มเฟือย”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจฟื้นไม่ดี บ้าน-คอนโดฯ ยอดขายตก กระทบลาม ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ คนไทยงดซื้อ “สินค้าฟุ่มเฟือย”

Date Time: 10 ก.ค. 2567 15:24 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เป็นอย่างไร? ในวันที่ตลาดบ้าน-คอนโดฯ ชะลอตัว คนไทยชะลอตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย แม้มีมาตรการกระตุ้น อีกกลุ่มงดซื้อ “สินค้าฟุ่มเฟือย” ใช้ของเก่าที่มี เจาะยอดขายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือนแรก ลดลงแล้ว 2.6% ผู้ค้ากว่า 3,000 ราย แข่งดุ และลดการผลิต

Latest


ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นับว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะหากนับรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแล้ว จะมีมูลค่าตลาด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ประเทศเลยทีเดียว

เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่กระตุ้นเม็ดเงินมหาศาล ทั้งการจ้างงาน และเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์/การตกแต่ง และสถาบันการเงิน เป็นต้น 

ตลาดอสังหาฯ วาย ลามธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ยอดขาย-ยอดผลิต ร่วง! 

ซึ่งแน่นอนในภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยสินเชื่อสูง คนไทยส่วนใหญ่ชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อน ทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบเช่นกัน 

Thairath Money เจาะข้อมูลธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทย เป็นอย่างไร? ในวันที่อสังหาฯ ชะลอตัว อ้างอิงข้อมูลจากวิจัย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยพบว่าตลาดการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทย ชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา 

ปี 2566 มีปริมาณการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งสิ้น 7.1 ล้านชิ้น ลดลง 29.9% มูลค่าการขายรวมส่งออกราว 8,245 ล้านบาท ลดลง 14.6% โดยช่วงปี 2564-2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องราว 5.1% ต่อปี 

ขณะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 แม้ปริมาณการผลิตเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่ 2.4 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 12.5% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564-2566 ที่ ราว 3.5 ล้านชิ้น 

คนไทย ชะลอซื้อบ้าน งดสินค้าฟุ่มเฟือย 

ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันมาจากแนวโน้มการขายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 19.6% ส่วน 4 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงลดลง 2.6% 

ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามปกติ ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง และส่งผลต่อความกังวลของผู้บริโภคที่ชะลอการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย ตลอดจนการชะลอตัวต่อเนื่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ยังมีความเสี่ยงจากการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีจำนวนผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำ 

โดยในปี 2564-2567 มีจำนวนผู้ประกอบการผลิตเฟอร์นิเจอร์ใน TSIC 31000 มากถึง 3,180 ราย แต่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยลดลงต่อเนื่องจาก 59.5% ในปี 2564 มาอยู่ที่ราว 36.0% ในปี 2566 

สำหรับทิศทางตลาดเฟอร์นิเจอร์ ปี 2567 ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วิเคราะห์ว่า ตลาดในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ปัจจัยสำคัญของยอดขายเฟอร์นิเจอร์ยังไม่ฟื้นตัว 

แม้จะมีการขยายมาตรการช่วยเหลือให้ครอบคลุมอสังหาฯ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 7 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นแล้ว รวมถึงตลาดลูกค้าทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ยังคงชะลอตัว เพื่อรักษาสภาพคล่อง และหลีกเลี่ยงสินค้าที่ไม่จำเป็น 

โดยมีเพียงกำลังซื้อกลุ่มลูกค้า Hi-End บ้าน-คอนโดฯ ราคาสูงมากกว่า 7 ล้านบาท ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่พัก โรงแรม ที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงห้องพักและสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติม เพื่อรองรับการฟื้นตัวกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ