คนอีสานพึ่งเงินช่วยจากรัฐสูงสุด รายได้น้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาทต่อเดือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนอีสานพึ่งเงินช่วยจากรัฐสูงสุด รายได้น้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาทต่อเดือน

Date Time: 10 ก.ค. 2567 09:05 น.

Summary

  • "เศรษฐพุฒิ" ร่ายยาว "การเงินกับการกินดีอยู่ดีของคนอีสาน" พบมีรายได้ติดลบกว่า 5,396 บาทต่อเดือน นั่นคือมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ทำให้คนอีสานต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐสูงที่สุดที่ 5,024 บาท

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

"เศรษฐพุฒิ" ร่ายยาว "การเงินกับการกินดีอยู่ดีของคนอีสาน" พบมีรายได้ติดลบกว่า 5,396 บาทต่อเดือน นั่นคือมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ทำให้คนอีสานต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐสูงที่สุดที่ 5,024 บาท รับเศรษฐกิจไทยโตช้าและต่ำ ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นยาก ไม่เท่ารายจ่ายที่สูงขึ้น ส่วนการแก้หนี้ต้องอาศัยเวลา เสกให้หายทันทีไม่ได้ ย้ำการปิดส่วนต่างระหว่างรายได้กับรายจ่าย ต้องแก้เชิงโครงสร้างระยะยาว

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการสัมมนาประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ในหัวข้อ “การเงินกับ การกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” ว่า ในทางการเงิน เรื่องการกินดีอยู่ดี จะต้องมาจากด้านรายได้ที่เพียงพอกับรายจ่าย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมารายได้ของประเทศโตช้ามากจริงๆ ส่วนหนึ่งเป็นไปตามศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลดลง จากโครงสร้างการผลิตที่แข่งขันได้น้อยลง ประสิทธิภาพแรงงานลดลง และการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่ทำให้จากเดิมการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4-5% ลดเหลือ 3% บวกลบ ซึ่งการขยายตัว 3% ไม่เอื้อให้รายได้ของคนไทยเติบโตได้สูงเพียงพอ

ทั้งนี้ หากพิจารณารายได้และรายจ่ายของครัวเรือนคนไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่ารายได้ของแรงงานไทยเทียบกับหมวดอื่นๆ เช่น การเติบโตของบริษัท รายได้ของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นต่ำกว่า และการเพิ่มขึ้นของรายได้กระจุกตัวในบางภาค ทำให้แรงงานไทยส่วนมากยังมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ยกตัวอย่างในภาคอีสานที่พบว่า 40% ของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของภาคอีสานในปี 66 ที่ผ่านมา มาจากการบริโภคของคนรายได้สูงในภาคอีสานซึ่งคิดเป็น 10% เท่านั้น สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง

นอกจากนั้น หากมองรายได้ของแรงงานทั้งประเทศ จะพบว่า ในปี 66 รายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศน้อยกว่ารายจ่าย 2,663 บาทต่อเดือน แต่เมื่อแบ่งตามภาค พบว่า ภาคอีสานมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาทสูงที่สุด ตามมาด้วยภาคเหนือติดลบ 3,112 บาท และภาคใต้ติดลบ 1,499 บาท ทำให้ครัวเรือนภาคอีสานต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐสูงที่สุดที่ 5,024 บาท นอกจากนั้น การที่แรงงานภาคอีสานอยู่ในภาคเกษตรมากที่สุด มีรายได้ในการเก็บเกี่ยวเพียงปีละครั้ง ทำให้การเพิ่มขึ้นของรายได้เกิดขึ้นค่อนข้างช้า

ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมาก 90-91% ของจีดีพี และที่สำคัญหนี้ของคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่าย ทำให้แก้ยากกว่าหนี้ครัวเรือนของประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้านที่มีหลักประกัน การแก้หนี้ของไทยจึงต้องทยอยทำ ไม่มีเวทมนต์ที่จะเสกให้หนี้ลดลงทันที หรือหากเราจะไปลดหนี้ลงทันทีจาก 90% จีดีพี เหลือ 80% เพื่อให้เข้ามาตรฐานที่ดีก็ไม่ควรทำ และทำไม่ได้เพราะจะกระทบลูกหนี้แรงเกินไป ทำให้ทุกอย่างสะดุดตามไปด้วย หนทางที่ดีที่สุด คือ ในระหว่างการแก้หนี้ ต้องสร้างรายได้ให้มากกว่ารายจ่าย คนจะต้องมีสินทรัพย์ที่มากกว่าหนี้ เพื่อเป็นกันชนในยามที่เกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด และมีความมั่งคั่งส่งต่อไปถึงลูกหลาน

“สิ่งที่เราเห็นขณะนี้คือ รายได้น้อยกว่ารายจ่ายมายาวนานเป็น 10 ปี หากถามว่า รายจ่ายในช่วงที่ผ่านมาสูงขึ้นเพราะอะไร เพราะค่าครองชีพมันสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น ครัวเรือนที่จะถูกกระทบมากสุดเมื่อเงินเฟ้อสูงคือ ครัวเรือนรากหญ้าที่ไม่มีสินทรัพย์เป็นกันชนเพื่อลดภาระที่สูงขึ้น หากปล่อยให้เงินเฟ้อขึ้นไปแล้ว จะเอาลงได้ยาก และแม้ว่าจะเอาเงินเฟ้อลงได้แล้ว แต่ราคาสินค้าก็ไม่ได้ลดลงตาม วันนี้ราคาสิ่งที่เราบริโภค ที่ราคาขึ้นแล้วไม่ได้ลดลง คนไทยยังต้องอยู่กับค่าครองชีพที่สูงอยู่ ซึ่งในภาคอีสานเราก็เห็นภาพนี้เช่นกัน คือ รายได้เพิ่มขึ้นน้อย ขณะที่ค่าครองชีพขึ้นเร็วและคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าการใช้มาตรการระยะสั้นชั่วคราวอาจทำได้บ้าง แต่การเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนหรือการปิดส่วนต่างระหว่างรายได้กับรายจ่าย จะต้องใช้มาตรการเชิงโครงสร้างในระยะยาว”

นอกจากดูแลเงินเฟ้อ อีกเรื่องที่ภาคการเงินช่วยได้คือ การเร่งแก้หนี้เก่าและการดูแลให้คนเข้าถึงสินเชื่ออย่างเหมาะสม ไม่ก่อหนี้เกินตัวหรือก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งให้ทำไปพร้อมๆกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เก่าที่มีปัญหา รวมทั้งการแก้หนี้สินเกษตรกร ซึ่งเป็นหนี้ที่มีความแตกต่างจากหนี้อื่นๆ แต่จำเป็นต้องเร่งรัดการแก้หนี้ให้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน การเติมเงินสินเชื่อเพื่อช่วยให้มีเงินหมุนเวียนก็เป็นเรื่องจำเป็น ยอมรับว่ายังมีบางภาคเศรษฐกิจ เช่น เอสเอ็มอี ซึ่งธนาคารมองว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่กระทรวงการคลังรับเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าปัจจุบันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไปทำต่อ เพราะจะดีกว่าการขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ให้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะได้ผลชั่วคราว รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล เป็นทางเลือกใหม่ที่จะสนับสนุนรายได้ใหม่ๆให้คนไทยเพิ่มขึ้นได้ด้วย.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ