ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ด กกพ.) วันที่ 10 ก.ค.นี้ จะมีการพิจารณาวาระสำคัญคือ เรื่องอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. ที่คาดว่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกหน่วยละ 20-40 สตางค์ (สต.) จากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันที่รวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการทยอยคืนชำระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ล่าสุดอยู่ที่ 98,000 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ.มีภาระต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย และยังมีหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ต้องทยอยคืนให้ บมจ.ปตท. ที่รับภาระไปงวดก่อนหน้านี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงต่อเนื่อง กระทบกับราคาซื้อก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเข้าช่วงฤดูหนาว ทำให้ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่าเอฟที งวดนี้ มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ หลังบอร์ด กกพ.มีมติ รับทราบต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และเห็นชอบการคำนวณประมาณการค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไป กกพ.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เลือก 3 ทางเลือก ซึ่งการปรับขึ้นค่าเอฟที ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าใด ต้องประกาศผลภายใน ก.ค.นี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ต้องประกาศค่าไฟฟ้าอัตราใหม่ล่วงหน้า 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กฟผ.กู้เงินมาช่วยประชาชนค่าไฟไปก่อน มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยงวดละหลายร้อยล้านบาท หากคืนหนี้ให้ กฟผ.ช้าจะทำให้ กฟผ.ต้องแบกภาระจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม อาจกระทบกับอันดับเรตติ้งของ กฟผ.ได้ และหลังรัฐบาลได้ช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง โดยลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 3.99 บาท ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเดือน เม.ย.67 พุ่งขึ้น 20% เทียบกับ เม.ย. ปี 66 สะท้อนว่าการทำให้ค่าไฟถูกเกินต้นทุนจริง ทำให้ประชาชนไม่ประหยัดการใช้ไฟ ไม่ส่งผลดีระยะยาว ซึ่งหาก กกพ.มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าเอฟที แต่รัฐบาลต้องการตรึงค่าไฟงวดสุดท้ายให้อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาทตามเดิม ก็อยู่ที่รัฐบาลในการหางบฯหรือแนวทางช่วยเหลือ ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน คือเดือน พ.ค.-ส.ค. กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็น 3 แนวทางคือ 1.ค่าไฟฟ้า 5.43 บาทต่อหน่วย กรณีจ่ายคืนหนี้ กฟผ.ทั้งหมด 99,689 ล้านบาทในงวดเดียว 2.ค่าไฟฟ้า 4.34 บาทต่อหน่วย กรณีจ่ายคืนหนี้ กฟผ. 4 งวด งวดละ 14,922 ล้านบาท 3.ค่าไฟฟ้าเท่าเดิมที่ 4.18 บาทต่อหน่วย จ่ายหนี้ กฟผ. 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท ซึ่ง กกพ.ได้ เลือกแนวทางที่ 3 ขณะที่ภาคเอกชนระบุว่า ค่าไฟฟ้าประเทศไทย ควรอยู่ที่ 4-4.10 บาท เพื่อไม่ให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นสูง จนอาจทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง
ด้านนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกรัฐบาลเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใช้จ่ายงบประมาณ 1,939.75 ล้านบาท สำหรับค่าไฟเดือน ม.ค.-เม.ย.67 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยกรอบวงเงินของ กฟน. 356.30 ล้านบาท และ กฟภ. 1,583.45 ล้านบาท โดยให้ กฟน. และ กฟภ. เบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่