นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้กระทรวงการคลังจะออกมาตรการลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล โดยมาตรการที่จะออกมานั้น จะเป็นมาตรการทางภาษีเหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับลดหย่อนภาษีในอัตราที่ใกล้เคียงกับต้นทุนที่ผู้ประกอบการแบกรับ ทั้งนี้เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีมาตรการภาษีมาช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการด้วย เหมือนในอดีตที่เคยทำมา โดยอาจจะให้วงเงินลดหย่อนภาษีที่ 1 เท่าของรายจ่ายค่าแรง หรือมากกว่านั้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะสามารถประกาศมาตรการได้ทันทีที่มีการประกาศขึ้นค่าแรง
“การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นการสร้างฐานรากของสังคมให้แข็งแรง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ง่าย เพราะมีผลกระทบต่อภาคเอกชน ภาครัฐก็รับทราบ และเราจะหากลไกที่ทำให้ผลกระทบมันเบาลง”
ทั้งนี้ ในปี 2561 ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 ได้ข้อสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 มีการปรับเพิ่ม 7 ระดับ ค่าจ้างต่ำสุด คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ 308 บาทต่อวัน ส่วนค่าจ้างแพงสุดมี 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง อยู่ที่ 330 บาทต่อวัน ขณะที่ กทม.และปริมณฑล 325 บาทต่อวัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลขณะนั้นได้ออกมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ กำหนดให้นายจ้างที่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน นำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาหักเป็นรายจ่ายได้เป็น 1.15 เท่าของค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่