แบงก์ชาติ มอง แก้ปัญหาโครงสร้าง สำคัญกว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจ”  หวั่นลดดอกเบี้ย ทำคนก่อหนี้พุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ชาติ มอง แก้ปัญหาโครงสร้าง สำคัญกว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจ” หวั่นลดดอกเบี้ย ทำคนก่อหนี้พุ่ง

Date Time: 5 ก.ค. 2567 17:07 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ผู้ว่าแบงก์ชาติ พบสื่อครั้งแรกในรอบหลายเดือน แจงข้อสงสัย "เงินเฟ้อต่ำ ทำไมไม่ลดดอกเบี้ย" มองเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระดับศักยภาพ หวั่นลดดอกเบี้ย ดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง ซ้ำรอยปี 2558 เน้นแก้ปัญหาโครงสร้าง สำคัญกว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

Latest


นับเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบหลายเดือน สำหรับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ว่าแบงก์ชาติได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในงาน “Meet the press ผู้ว่าการ พบสื่อมวลชน” ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) โดยได้ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน และมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ในการประชุม ติดต่อกัน 3 ครั้ง สะท้อนว่า แบงก์ชาติอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ไปตลอดทั้งปี 2567


เปิดสาเหตุ ทำไมแบงก์ชาติ ไม่ลดดอกเบี้ย

เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแบงก์ชาติไม่ได้มองว่าสภาพเศรษฐกิจดีกว่าความเป็นจริง และทราบดีว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพที่ 3% ในปี 2568 อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) ไม่มีสูตรตายตัว แบงก์ชาติไม่ได้ดูแค่ข้อมูลเงินเฟ้ออย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงินด้วย 


โดยอัตราดอกเบี้ยยังเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีข้อจำกัด คือ เป็นเครื่องมือเดียวที่ต้องตอบโจทย์หลายอย่าง ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ดังนั้นการปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยต้องชั่งน้ำหนักหลายมิติ ดูผลข้างเคียงให้เกิดความสมดุล เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย นำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้าง


ทั้งนี้การตัดสินนโยบายการเงินจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (outlook dependent) ไม่ได้ขึ้นกับข้อมูลล่าสุดอย่างเดียว เพราะข้อมูลล่าสุดมีโอกาสผันผวนจากปัจจัยชั่วคราว หรือปัจจัยเฉพาะในเดือนนั้นๆ ดังนั้นการตัดสินใจวันนี้จึงมีผลต่อวันข้างหน้า


หวั่นลดดอกเบี้ย ดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง ซ้ำรอยปี 58


เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ต้องตอบโจทย์หลายอย่าง และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ในแง่ของความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 90.8% ต่อ GDP ซึ่งแบงก์ชาติแสดงความกังวลมาตลอด ก็ต้องดูผลกระทบระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับหนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะผลักดันให้ภาระหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ในทางกลับกันถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป จะกระตุ้นให้คนกู้ยืมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เสถียรภาพการเงินถดถอย 


อย่างเช่นในปี 2558 ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 85.2% จากระดับ 60%-70% ระหว่างปี 2555-2557 การก่อหนี้ที่เร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงที่แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยจาก 1.75% เป็น 1.5% และคงระดับต่ำไว้เป็นเวลานาน จนต้องเริ่มกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ต้องปรับลดอีกครั้งในช่วงโควิด ทำให้หลังโควิดแบงก์ชาติต้องทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อปรับให้เข้าสู่ภาวะปกติ จนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ 2.50%

 

อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติ มองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 2.50% เป็นระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แต่ถ้าแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แบงก์ชาติ ก็พร้อมที่เปลี่ยน


“ตอนนี้ปิดประตูไม่ได้ ความเสี่ยง ความไม่นอนในโลกมันมหาศาล เราไม่ได้จะยึดติดอะไร แต่ในภาพรวมอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ เหมาะกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน”


แก้ปัญหาโครงสร้าง สำคัญกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น


เมื่อเศรษฐกิจจะฟื้นตัวสู่ระดับศักยภาพอยู่แล้วในปีหน้าทำให้หลายคนเกิดคำถามว่ามาตรการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นยังจำเป็นอยู่ไหม ผู้ว่าแบงก์ชาติ ให้มุมมองว่า ในฐานะที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพการเงิน และเศรษฐกิจ จึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังไปได้ โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนเติบโตที่ระดับ 7% รวมถึงพื้นที่ทางการคลังที่เริ่มจำกัด ก็ต้องพิจารณากระตุ้นให้ตรงจุด.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ