นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the Press ครั้งแรกของปี 2567 ถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่า ภาพที่ออกไปอาจจะคลาดเคลื่อนในบางเรื่อง เช่นที่ว่า ธปท.มองเศรษฐกิจดีเกินไป และไม่เห็นความยากลำบากของคนไทยในขณะนี้ ซึ่งจริงๆ ธปท.เข้าใจว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีขนาดนั้น เศรษฐกิจไทยยังเป็นเศรษฐกิจที่ฟื้นช้าเมื่อเทียบกับโลก และแม้ว่ามีการฟื้นตัวในภาพรวม แต่เข้าใจดีว่า ในตัวเลขรวมมันซ่อนความลำบากและความทุกข์ของประชาชนไม่น้อย
ทั้งนี้ จากการที่ ธปท.ติดตามตัวเลขรายได้ของคนไทยล่าสุด โดยในส่วนของลูกจ้างนอกภาคเกษตร ซึ่งมีประมาณ 48% ของทั้งระบบหรือประมาณ 18 ล้านคน เทียบรายได้ก่อนโควิดเป็น 100 พบว่า หากมองในภาพรวม ณ ปัจจุบัน ตัวเลขนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นมาเป็น 109.2% หรือเพิ่มขึ้น 8.9% ขณะที่อาชีพอิสระประมาณ 10 ล้านคน หรือ 25% ของระบบรวมพบว่า รายได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 107.2% หรือเพิ่มขึ้น 9.2% ซึ่งเหมือนว่าจะดีกว่าโควิดแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากเจาะดูเป็นค่าเฉลี่ยรายได้รายเดือนตั้งแต่ก่อนโควิดจนถึงปัจจุบัน จะเห็นชัดว่าระหว่างทางรายได้ของคนหายไปจำนวนมาก แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยหากคิดค่าเฉลี่ยตลอดช่วงตั้งแต่ก่อนโควิด รายได้เทียบกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น พบว่ารายได้เฉลี่ยสะสมรายเดือนของลูกจ้างนอกภาคเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 5,296 บาทต่อเดือน สูงกว่าค่าครองชีพเฉลี่ย 5,287 บาทต่อเดือนเพียงเล็กน้อย และผู้มีอาชีพอิสระมีรายได้เฉลี่ย 4,383 บาทต่อเดือน ต่ำกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกัน อีกประเด็นที่ชัดเจนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้า มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกจะเจอเกือบทุกประเทศ ภาคการผลิตของเราส่วนหนึ่งเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ต้องสู้กับการเข้ามาของสินค้าราคาถูกของจีน และมีปัญหาความต้องการซื้อสินค้าของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้อุตสาหกรรมเก่าของเราแข่งขันได้ยาก ส่งออกไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ส่งผลให้ศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลงจากเดิม โดยจากในช่วงปี 2547-2565 ศักยภาพในการเติบโตของไทยอยู่ที่ 3.8% และตัวเลขจริงช่วงนั้นการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เฉลี่ยอยู่ที่ 4% แต่ตั้งแต่ปี 2557-2566 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้สัดส่วนแรงงานหายไป
“ดังนั้น หากถามว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้หากฟื้นตัวจะไปอยู่ที่ไหน จะกลับไปขยายเต็มศักยภาพที่ประมาณ 3% ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเป็นไปทางนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราโตมากกว่านี้ไม่ได้ แต่ต้องมีการปรับโครงสร้างภาคการผลิต และเพิ่มความสามารถการแข่งขันทางการค้า เพราะยอมรับว่าการโตแค่ 3% หากเทียบกับรายได้ของคนไทย และความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ เพราะ 3% โตเท่ากับเกาหลีใต้ ซึ่งเขารวยกว่าเรามาก”
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า กรณีดอกเบี้ยนโยบายหลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อ 1-3% มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ ธปท.ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย จุดนี้นโยบายดอกเบี้ยจำเป็นต้องตอบหลายโจทย์ไปพร้อมกัน ทั้งด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ และด้านเสถียรภาพทางด้านการเงิน นอกจากนั้น ดอกเบี้ยที่เหมาะสมอาจจะขึ้นกับประเด็นส่วนบุคคล เช่น หากเป็นลูกหนี้มีหนี้จำนวนมาก อยากให้ดอกเบี้ยต่ำลง แต่คนฝากอาจจะมีปัญหาเรื่องรายได้ลด ดอกเบี้ยต่ำมากอาจจะไม่ดีพอ หรือผู้ส่งออกและนำเข้าก็อยากเห็นทิศทางดอกเบี้ยที่ต่างกัน เพราะกระทบต่อความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งตั้งแต่ต้นปี พบเงินทุนต่างประเทศไหลออก 5,400 ล้านเหรียญ
“ในภาพรวม ธปท.ไม่อยากเห็นเงินเฟ้อที่สูงเกินไป เพราะกระทบต่อค่าครองชีพโดยรวม และต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น โดยจะเห็นว่า ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นสูงมากอยู่ที่เฉลี่ย 8% ต่อเดือน ธปท.ไม่ได้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายทันที เนื่องจากจะต้องดูสมดุลของเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และแม้แต่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เป็นการมองไปข้างหน้า จึงใช้วิธีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับในช่วงดอกเบี้ยขาลง ที่จะต้องพิจารณาความสมดุลทั้งหมดด้วยเช่นกัน และจะตัดสินใจบนตัวเลขวันนี้ไม่ได้ แต่จะต้องดูแนวโน้มไปข้างหน้าด้วย”
นายเศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายของเราเหมาะสมกับทิศทางเศรษฐกิจที่เราเห็น แต่หากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปชัดเจน เพราะ ธปท.ยอมรับว่าในขณะนี้ความเสี่ยงมีมหาศาลทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น เราไม่ได้ปิดประตูที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน หรือลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม เมื่อดอกเบี้ยทำคนเดียวจะกระทบหลายส่วน จะต้องมีวิธีที่จะช่วยไม่ให้ดอกเบี้ยต้องออกแรงคนเดียว โดยใช้ดอกเบี้ยส่วนหนึ่ง และเสริมด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในบางจุดที่ร้อนแรง จุดที่กระทบอัตราแลกเปลี่ยนฯ และจุดที่กระทบกับประชาชน เช่น ที่ผ่านมาเราลด LTV เพื่อช่วยในช่วงโควิด หรือการออกสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วเอสเอ็มอี ซึ่งจากจำนวน 500,000 ล้านบาท ออกไปได้ประมาณ 99.4% ซึ่งช่วยให้สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวทางการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมียอดรวมลูกหนี้ที่เข้าระบบ 16 ล้านบัญชี และต่อเนื่องวันนี้ด้วยความพยายามแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ทั้งการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมกับความสามารถของลูกหนี้ และรับผิดชอบลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้โดยการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านมา ธปท.ได้เปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ลูกหนี้ไทยจะได้รับ ระหว่างการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หากลูกหนี้มีเงินต้นเหลือ 1 ล้านบาท เหลือเวลาผ่อน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.075% จะทำให้ลูกหนี้ลดภาระได้ประมาณ 1,200 บาทต่อปี หรือลดลงเดือนละ 100 บาท แต่การปรับโครงสร้างหนี้ จะสามารถลดภาระได้ 1,200-2,100 บาทต่อเดือนขึ้นกับวิธีการปรับโครงสร้างหนี้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่