ปั้น “โคราช” มหานครดิจิทัลแห่งแรก ดีอีชู “นครราชสีมาแห่งอนาคต” รับรถไฟเร็วสูง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปั้น “โคราช” มหานครดิจิทัลแห่งแรก ดีอีชู “นครราชสีมาแห่งอนาคต” รับรถไฟเร็วสูง

Date Time: 4 ก.ค. 2567 07:45 น.

Summary

  • ปิดฉาก ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมาไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 นอกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบยาหอมโครงการพัฒนาพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง 1 อันประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ รวม 24 โครงการ วงเงิน 496.15 ล้านบาทแล้ว

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายกรัฐมนตรียังได้ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ซึ่งรวมถึงนโยบายผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ผ่านการขับเคลื่อนของกระทรวงดีอี ซึ่งได้ประกาศเป้าหมาย “โคราชโมเดล” ยกระดับสู่ “มหานครดิจิทัล” แห่งแรกของประเทศไทย รองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราชเสร็จปี 2571

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2567 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “Digital Korat : The Future Starts now-โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรและประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อีสาน จังหวัดนครราชสีมา

โดยนายเศรษฐากล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND” หนึ่งในเป้าหมายคือการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) กระทรวงดีอีจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว

● “โคราช” ต้นแบบมหานครดิจิทัล แห่งแรก

ขณะที่นายประเสริฐกล่าวว่า โครงการ “Digital Korat : The Future Starts now-โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” เป็นการขับเคลื่อนและยกระดับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เป็นประตูสู่ภาคอีสาน สู่การเป็นเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค ผ่านการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงดีอี และภาคส่วนต่างๆในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1.การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ลดการใช้กระดาษ (Paper Less) ส่งเสริมการใช้งานด้านดิจิทัลในระบบบริการสาธารณสุข และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล

2.ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมมือกันพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลให้กับสถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา

3.ความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistic Hub) และส่งเสริม Soft Power ของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะ และการสร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

นายประเสริฐกล่าวอีกว่า นครราชสีมาจะเป็นต้นแบบของมหานครดิจิทัลแห่งอนาคต ก่อนขยายไปจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ โดยนครราชสีมามีความพร้อมในฐานะจุดหมายปลายทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายแรก ระยะ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2571 ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางเหลือ 1.30 ชั่วโมง เมื่อเดินทางได้สะดวกขึ้น นครราชสีมาจะสามารถรองรับการจัดงานระดับโลกได้โดยสะดวก เริ่มจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกนครราชสีมาในปี 2572

● เชื่อมข้อมูลสุขภาพ Health Link แห่งที่ 2

ในโอกาสเดียวกัน สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ในสังกัดกระทรวงดีอี ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9 นครราชสีมา และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี สังกัดกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ขยายการเชื่อมต่อระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange : Health Link) ให้ครอบคลุมทุกหน่วยบริการ ทำให้ชาวโคราชเข้าสู่ระบบสาธารณสุขได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงข้อมูล (ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ป่วยเท่านั้น) ทำให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาข้ามสถานพยาบาลนอกสังกัด ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการตรวจวินิจฉัยซ้ำซ้อน ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทันท่วงที ช่วยให้การรักษา การส่งตัวผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลราบรื่น สอดรับตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่

โดยนายประเสริฐกล่าวว่า มอบหมายให้ BDI กำหนดแผนปฏิบัติการและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพที่สามารถนำไปใช้พัฒนาระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ โดยเริ่มจากพื้นที่กรุงเทพ มหานครต่อด้วยจังหวัดนครราชสีมาเป็นแห่งที่ 2 และขยายผลการใช้งานในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกหน่วยบริการผลักดันนครราชสีมาสู่การเป็นต้นแบบบูรณาการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ

● ดัน “สีคิ้ว” เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ

นอกจากนั้น นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว นครราชสีมา ภายใต้โครงการ SIKHIO SMART LIVING ซึ่งเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ และอาจขยับสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ต่อไป

โครงการ SIKHIO SMART LIVING คือโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ครอบคลุมมิติด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform : CDP) โดยจะมีการยกระดับซอฟต์แวร์ของกล้อง CCTV ทั้งหมดในอำเภอสีคิ้วใน 4 ฟังก์ชัน ประกอบด้วย การตรวจจับความเคลื่อนไหวผิดปกติในพื้นที่ที่กำหนด การตรวจจับการบุกรุกข้ามเส้นที่กำหนด การตรวจจับวัตถุที่ถูกวางทิ้งไว้หรือหายไปจากพื้นที่ที่กำหนด และการวิเคราะห์และประมวลผลภาพ ทั้งหมดเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการติดไฟส่องสว่าง ตลอดจนการให้เงินสนับสนุนบางส่วนให้เกิดเป็นชุมชนอัจฉริยะ ในการจัดซื้อรถแทรกเตอร์ โดรนเกษตร เพื่อใช้ยกระดับการเพาะปลูก.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ