รัฐบาลไม่หวั่น World Bank หั่น GDP มั่นใจมาตรการรัฐ ดันเศรษฐกิจโต 3% ย้ำ “หนี้สาธารณะไทย” ปลอดภัย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รัฐบาลไม่หวั่น World Bank หั่น GDP มั่นใจมาตรการรัฐ ดันเศรษฐกิจโต 3% ย้ำ “หนี้สาธารณะไทย” ปลอดภัย

Date Time: 3 ก.ค. 2567 17:38 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • World Bank หั่น GDP ไทย ปี 2567 เหลือ 2.4% เหตุเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เผ่าภูมิ มั่นใจมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ดันเศรษฐกิจโตตามเป้า 3% เผยความลับหนี้สาธารณะไทย หากคำนวณตามนิยามสากล อยู่ในระดับต่ำที่ 57%

Latest


เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ล่าสุดวันนี้ (3 ก.ค. 2567) World Bank ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือ 2.4% (ยังไม่รวมผลดิจิทัลวอลเล็ต) ลดลงจากครั้งก่อนที่ 2.8% และ 3.2% ตามลำดับ 

สาเหตุการปรับลด GDP มาจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2567 โดย GDP ขยายตัวเพียง 1.5% จากการส่งออกและการผลิตที่หดตัว ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้าถึง 7 เดือน ส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคภาครัฐหดตัวตามไปด้วย นอกจากนี้สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่นิ่ง ยังส่งผลให้ต่างชาติ ขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย 

อย่างไรก็ตาม World Bank มองว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทย จะมีเสถียรภาพทางการคลังที่แข็งแกร่ง แต่ในอนาคต จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาความยั่งยืนทางการคลังที่เพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้จ่ายที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต

ไม่หวั่น World Bank หั่น GDP รัฐบาลมั่นใจปีนี้โตถึง 3%

เมื่อถามถึงความกังวล หลัง World Bank ปรับลดประมาณการ GDP ไทยเป็นครั้งที่สอง ว่าอาจเป็นสัญญาณว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตไม่ถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่ 3% เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และตัวแทนปาฐกถาเปิดงาน “Unlocking the Growth Potential of Secondary Cities” ซึ่งจัดโดย World Bank กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ค่อยดีนัก แต่รัฐบาลมีกลไกที่สามารถกระตุ้นให้ GDP โตถึง 3%

โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการกระจายเม็ดเงินสู่ประชาชนให้เร็วที่สุด ผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งมีอัตราที่น่าพอใจ ภายใต้ระยะเวลา การเบิกจ่ายที่สั้นมาก แต่ทั้งรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายเข้าเป้าหมาย ด้านกระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมา พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีการท่องเที่ยวเมืองรอง สนับสนุนให้คนไปเที่ยวเมืองรองช่วงโลว์ซีซั่น, โครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ(soft loan) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ของธนาคารออมสิน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำสินเชื่อไปปล่อยกู้ต่อให้กับ SME ในราคาที่ถูกลง ซึ่งโครงการดังกล่าวพร้อมดำเนินการได้เลย หาก ครม.มีมติอนุมัติโครงการในสัปดาห์หน้า รวมถึงมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SME เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้ธุรกิจรายเล็กมากขึ้น ทั้งนี้มาตรการที่กล่าวมา เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ระหว่างที่เม็ดเงิน จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 

“หนี้สาธารณะไทย” ปลอดภัยในระดับสากล


สำหรับข้อกังวลสถานการณ์หนี้สาธารณะไทยที่อยู่ในระดับสูง เผ่าภูมิ กล่าวว่า สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไม่ได้มีความกังวลว่า เรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อการปรับเครดิตเรตติ้ง เนื่องจากต่างชาติทราบดีว่า การคำนวณหนี้สาธารณะของไทยนั้นไม่ได้เป็นไปตามคำนิยามสากลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 


“เวลาพูดถึงหนี้ที่เพิ่มขึ้นต้องคุยให้ชัด เราชอบพูดกันว่า เราขาดดุลงบประมาณเยอะ สร้างหนี้สาธารณะเยอะ แต่ความจริงแล้ว นิยามหนี้สาธารณะของประเทศไทย เรานับเกินคำนิยามสากล” 


โดยนิยามหนี้สาธารณะไทย นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐไม่ได้ค้ำประกันเอาไว้ด้วย ทำให้หนี้สาธารณะไทยสูงกว่าความเป็นจริง หมายความว่า ถ้าเราคำนิยามหนี้สาธารณะไทยให้ตรงกับ IMF ระดับหนี้ปัจจุบันจะอยู่ที่ 57% ไม่ใช่ 61% ตามนิยามเดิม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมาก สะท้อนถึงเสถียรภาพการคลังที่อยู่ในระดับปลอดภัย อีกทั้งหากมีการพิจารณาเครดิตเรตติ้ง ต่างชาติไม่ได้พิจารณาแค่ระดับหนี้ที่สูงหรือต่ำ แต่ลงลึกไปถึงรายละเอียดการก่อหนี้

ส่วนแผนการคลังระยะปานกลาง (2568-2571) จะทำให้ระดับหนี้สาธารณชนกรอบเพดานที่ 70% เผ่าภูมิชี้แจงเพิ่มเติมว่า หนี้สาธารณะมีสัดส่วนต่อ GDP ในแผนการคลังระยะปานกลาง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์การขาดดุล แต่สัดส่วนของ GDP ยังไม่นับรวมผลของดิจิทัลวอลเล็ต หรือมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาล หมายความว่า การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว ถ้า GDP โตขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะก็ลดลง ดังนั้นเวลาพิจารณาต้องดูทั้ง 2 มิติ

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ