Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR
InvestmentPersonal FinanceEconomicsBusiness & MarketingTech & InnovationSustainabilityExperts PoolVideosPR News
รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม 2.7 แสนล้าน กันเงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต ดันหนี้สาธารณะพุ่ง 65%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม 2.7 แสนล้าน กันเงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต ดันหนี้สาธารณะพุ่ง 65%

Date Time: 2 ก.ค. 2567 19:49 น.

Video

รองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เล่าเงื่อนไข-ปัจจัย อะไรจะเปลี่ยนใจ กนง. | Interview | Thairath Money

Summary

  • ครม.ไฟเขียวปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 รัฐบาลก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 2.75 แสนล้านบาท แบ่งเป็นใช้จ่ายโดยตรง 2.69 แสนล้านบาท ให้รัฐวิสาหกิจกู้เพิ่ม 3,470 ล้านบาท โฆษกรัฐบาลรับส่วนหนึ่ง เอาไปหนุนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ดันหนี้สาธารณะพุ่ง 65% สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เตือน ทำแผนบริหารความเสี่ยง ป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต

Latest


นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.นครราชสีมา เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังโดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอให้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 ซึ่งมีการเปลี่ยนจากการอนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ครั้งที่ 1 ที่ครม.อนุมัติไปเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 

โดยภายหลังการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะ ต่อ GDP อยู่ที่ 65.05% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่ 61.29% ของ GDP จากกรอบบริหารหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 70% ของ GDP     

แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 มีสาระสำคัญดังนี้

1.โดยแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 275,870.08 ล้านบาท จากเดิม 754,710 ล้านบาท รวมเป็น 1,030,580.71 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ของรัฐบาล ที่รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรงเพิ่มขึ้น 269,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจที่กู้เงินเพิ่มขึ้น (จากแหล่งเงินในประเทศ) อีกประมาณ 3,470 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินเพื่อลงทุน ในโครงการพัฒนารัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง เช่น การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ

2. แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 33,420.32 ล้านบาท จากเดิม 2,008,893.74 ล้านบาท เป็น 2,042,314.06 ล้านบาท

3. แผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มสุทธิ 54,555.17 ล้านบาท จากเดิม 399,613.70 ล้านบาท เป็น 454,168.87 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ที่รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรงเพิ่มขึ้น 269,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นั้น ส่วนหนึ่งคือจำนวน 112,000 ล้านบาท จะนำมาใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

นอกจากนี้ ครม.ได้มอบหมายสำนักงบประมาณ (สงป.) ให้รับข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับ การจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยของหนี้รัฐบาลและหนี้รัฐวิสาหกิจให้เพียงพอ และสอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณ เพื่อชำระต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาลให้อยู่ระหว่างร้อยละ 2.5-4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ขณะที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ขีดความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต  อีกทั้งยังมีปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้จำนวนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น คือ การจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 ซึ่งได้บรรจุรายการวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสัดส่วนต่อจีดีพี 112,000 ล้านบาท ไว้ด้วย และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ซึ่งมีการกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 865,700 ล้านบาท 

ดังนั้นเพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อป้องกันการเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย และต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบสมดุลให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลาง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์