ธปท.กังวลแรงงานไทยรายได้หด ปัญหาโครงสร้างพ่นพิษ-หลุดห่วงโซ่ผลิตโลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.กังวลแรงงานไทยรายได้หด ปัญหาโครงสร้างพ่นพิษ-หลุดห่วงโซ่ผลิตโลก

Date Time: 27 มิ.ย. 2567 07:00 น.

Summary

  • ธปท.ยืนยันเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง จับตาส่งออกชะลอ ภาคการผลิตทรุด ทำรายได้แรงงานแย่กว่ากลุ่มอื่น โรงงานเครื่องนุ่งห่มปิดเพิ่ม ชี้ผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไทยไม่ได้เป็นห่วงโซ่การผลิตโลก ยันดอกเบี้ย ต้นทุนการเงินไม่ใช่ปัญหา

Latest

ราคาที่แนวรถไฟฟ้าขยับขึ้น ธอส. ชี้ส่งสัญญาณธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว

ธปท.ยืนยันเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง จับตาส่งออกชะลอ ภาคการผลิตทรุด ทำรายได้แรงงานแย่กว่ากลุ่มอื่น โรงงานเครื่องนุ่งห่มปิดเพิ่ม ชี้ผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไทยไม่ได้เป็นห่วงโซ่การผลิตโลก ยันดอกเบี้ย ต้นทุนการเงินไม่ใช่ปัญหา ยอมรับ แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อเพิ่ม เหตุพบลูกหนี้มีฐานะการเงินแย่ลง

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการจัด Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งเป็นการพบปะกับนักวิเคราะห์ทุกไตรมาสเพื่อชี้แจงแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.6% และขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ 3% ในปี 2568

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่หากมองในภาพรวมของเศรษฐกิจ การฟื้นตัวอาจจะยังไม่เท่ากันในทุกภาคส่วน เพราะยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้แต่ละภาคมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกันไป โดยหากพิจารณาตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแต่ละไตรมาสจะพบว่าหากเทียบระยะเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.5% ขึ้นมาเป็น 2% ในไตรมาสที่ 2 และเพิ่มขึ้นเป็น 2% ใกล้ๆ 3% ในไตรมาสที่ 3 และเติบโตได้ในอัตราเกือบๆ 4% ในไตรมาสที่ 4 และปีหน้าจะขยายตัวได้ 3% ซึ่งเป็นการขยายตัวตามศักยภาพ

ภาคการผลิตอ่วม-โรงงานปิด-แรงงานรายได้ลด

น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐหลังงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ใช้ได้มีการเบิกจ่ายได้ดีต่อเนื่องตามที่ ธปท.คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองภาคการส่งออก และการผลิตที่ขยายตัวในอัตราต่ำ หลักๆมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถการแข่งขัน และแม้ว่าการส่งออกจะทยอยดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เราอาจจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อโลกไม่มากนัก เพราะเราไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีสูงๆ เช่น Artificial Intelligence (AI) chips

“เราเริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกและการผลิตที่มีปัญหาด้านโครงสร้างชัดเจนขึ้น โดยพบว่า สินค้าที่ได้รับแรงกดดันด้านการแข่งขันมากขึ้น คือ หมวดยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งความต้องการจากต่างประเทศชะลอลง ขณะที่หมวดที่การส่งออกหดตัวจากปัญหาด้านโครงสร้าง คือ เครื่องนุ่งห่มและปิโตรเคมี โดยได้รับผลกระทบจากต้นทุนสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยสูงกว่าสินค้าจีนที่เข้ามาแข่งขัน สอดคล้องกับตัวเลขการปิดโรงงานที่เราเห็นการปิดโรงงานเครื่องนุ่งห่มที่สูงขึ้น และการส่งออกที่ไม่ค่อยดี ทำให้มีสินค้าคงค้างในภาคการผลิตจำนวนมาก เห็นได้จากดัชนีภาคผลิตอุตสาหกรรมที่ติดลบ 6 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ล่าสุดมีสัญญาณบวกและคาดว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.
น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวของภาคการผลิตในระยะข้างหน้าก็ยังไม่ดีขึ้นมาก โดยกลุ่มยานยนต์ยังมีแนวโน้มขยายตัวลดลง ที่ต้องเผชิญหน้ากับการผลิตรถ EV จากจีนในขณะที่ส่วนใหญ่รถยนต์ที่ผลิตในไทยยังเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ขณะที่การผลิตในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มและเหล็ก ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งการส่งออกและการผลิตที่มีปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อรายได้ และการจ้างงานของภาคการผลิตชัดเจนขึ้น

“ในขณะนี้ เราจะเห็นว่า ตัวเลขการจ้างงานในภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับภาคการผลิตที่มีแรงงานรวมประมาณ 6.3 ล้านคน ที่ปัญหาเชิงโครงสร้างมีการจ้างงานต่ำลง และต่ำลงอย่างชัดเจน โดยที่ผ่านมาดัชนีการผลิตหดตัวต่อเนื่อง ทำให้จะมีรายได้ที่แย่ลงกว่ากลุ่มอื่นที่อยู่ในภาคบริการ และผลจากรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตที่ลดลง ยังมีผลต่อเนื่องไปยังภาคการค้า เช่น ร้านค้าที่อยู่รอบโรงงานก็จะซบเซาไปด้วย ซึ่งจะต้องจับตาการปรับตัวของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้าง เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต”

ทั้งนี้ ธปท.ยังพบว่า ในแต่ละภาคของประเทศยังฟื้นตัวไม่เท่ากันด้วย โดยพบว่ารายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ เทียบกับปี 2562 หรือก่อนโควิดในเมืองท่องเที่ยว รายได้ของภาคบริการจะดีกว่าก่อนโควิดแล้ว แต่ในภาคอีสาน การฟื้นตัวของรายได้ของผู้ประกอบการอิสระยังฟื้นตัวช้ากว่าที่อื่น โดยเป็นผู้ประกอบการอิสระในภาควัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ รับเหมาก่อสร้าง ขนส่งผู้โดยสาร สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้ค้าปลีกที่เชื่อมั่นกำลังซื้อในกรุงเทพฯ ปริมณฑลมากกว่าต่างจังหวัด

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน

เงินเฟ้อดี-ก่อหนี้ใหม่ลดลง-แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ

ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวว่า ในด้านของเงินเฟ้อคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ขณะที่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี แม้ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง โดยจากวันที่เงินเฟ้อสูงสุดเพียง 7 เดือนเงินเฟ้อต่ำลงมาสู่กรอบเป้าหมาย กลไกสินเชื่อทำงานได้ปกติในภาพรวม สินเชื่อธุรกิจขยายตัว ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอลง

“ในช่วงที่ผ่านมา การก่อหนี้ใหม่เริ่มชะลอตัวลง ขณะที่ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs บางกลุ่ม โดยเห็นว่า ตัวเลขหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือหนี้ที่เสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของเอสเอ็มอี อยู่ที่ 18.3% ของสินเชื่อรวม ขณะที่ภาคครัวเรือน สินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งส่วนหนึ่งธนาคารพาณิชย์ระบุว่า ไม่ได้มาจากการปรับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ แต่มาจากความเสี่ยงของลูกหนี้มีสูงขึ้น ทำให้การปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของสินเชื่อเช่าซื้อ หรือหนี้ที่เสี่ยงจะเสีย และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมกันอยู่ที่ 16.3% ของสินเชื่อรวม ขณะที่ความเสี่ยงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ก็ทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน”

นายสุรัชกล่าวต่อว่า การดำเนินนโยบายการเงิน ต้องผสมผสานเครื่องมืออย่างเหมาะสม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด การพึ่งพาเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากเกินไปอาจสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น หากเราคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเกินไป การก่อหนี้จะเร่งขึ้น แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้บ้าง แต่จะมีผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการและทำให้ความสามารถในการใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลาจำเป็นหมดไป

ยัน “ดอกเบี้ย-ต้นทุนการเงิน” ไม่ใช่ปัญหาของภาคธุรกิจ

ต่อข้อถามที่ว่า หากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นบ้าง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวดีขึ้นในขณะนี้ได้ดีกว่าหรือไม่ เพราะภาคธุรกิจจำนวนหนึ่งยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ นายสุรัชกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาระดับราคาของไทยได้สูงขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว หากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงมากจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของคน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้

นายปิติกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการพิจารณาว่าการชะลอของภาคการผลิตมีผลจากอะไร และดอกเบี้ยจะช่วยได้หรือไม่ซึ่งเท่าที่สอบถามผู้ประกอบการต้นทุนทางการเงินไม่ใช่ปัญหาหลักของภาคธุรกิจที่การอ่อนค่าของเงินบาทก็ไม่ได้ช่วยการส่งออกได้มากนัก ดอกเบี้ยจึงไม่ได้ตอบโจทย์ความสามารถการแข่งขันในวันนี้มากนัก ต้องไปดูที่การเข้าถึงสินเชื่อ และการหมุนเวียนของเม็ดเงินที่ต้องทำให้เงินไหลไปยังภาคต่างๆ และมีอุตสาหกรรมใหม่ที่ต่อยอดเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่ ซึ่งเวลานี้ภาคอุตสาหกรรมของเราอยู่ในระหว่างการปรับตัว และต้องใช้เวลา และหาวิธีในการเพิ่มความสามารถการแข่งขันอีกครั้ง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ