กระตุ้นเศรษฐกิจจากอสังหา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กระตุ้นเศรษฐกิจจากอสังหา

Date Time: 27 มิ.ย. 2567 05:33 น.

Summary

  • การประชุมครม.วันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้ ระบุว่าเป็นการมอบหมายจาก ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ รักษาการแทนนายกฯ โดยมีรายละเอียดคือ พิจารณาและทบทวนการกำหนดระยะเวลาในการครอบครองสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

รายงานข่าวจากทำเนียบแจ้งว่า สำนักเลขา ครม. ได้ทำหนังสือลงวันที่ 20 มิ.ย.2567 ถึง รมว.มหาดไทย ด่วนที่สุด เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก

ล่าสุด การประชุมครม.วันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้ ระบุว่าเป็นการมอบหมายจาก ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ รักษาการแทนนายกฯ โดยมีรายละเอียดคือ พิจารณาและทบทวนการกำหนดระยะเวลาในการครอบครองสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี

พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิคนต่างด้าว สามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด (คอนโดมิเนียม) จากเดิมไม่เกิน 49% เป็นไม่เกิน 75% และกำหนดเงื่อนไขอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของนิติบุคคล เช่น การจำกัดสิทธิการออกเสียงของคนต่างด้าว และนิติบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาถือกรรมสิทธิ์หลังจากที่เกินอัตราส่วน 49% การนี้ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จโดยเร็วและเสนอ ครม.โดยเร็ว

ว้าวุ่นเลยทีนี้ รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็เคยเสนอให้ต่างด้าวสามารถเข้ามาถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ห้องชุด ที่อยู่อาศัย ได้จาก 50 ปีเป็น 50+49 ปี แต่ทำไมจู่ๆเรื่องนี้กลับเงียบไป โดยเฉพาะการตั้งคำถามถึง อธิปไตย ของประเทศไทย และการเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งเกรงว่าจะเกิดผลกระทบเช่นเดียวกับ ประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะนี้ และเป็นเหตุผลหนึ่งในปัญหาของ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

การจัดสัมมนา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน จ.ภูเก็ต มีข้อมูลที่น่าสนใจโดยเฉพาะพบว่า โครงการรีสอร์ตตากอากาศและวิลล่า ที่มีกว่า 282 โครงการ 3 หมื่นกว่าหน่วย มูลค่ากว่า 3.2 แสนล้านที่ เน้นขายให้กับต่างชาติ โดยเฉพาะเมื่อคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดเป็น ร้อยละ 1 ของมูลค่า 1 แสนล้าน จะได้เงินจากภาษีปีละ 1 พันล้าน ต่อปี และถ้านำอสังหาเหล่านี้ไปขายต่อจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่า และจะต้องเสียภาษีกำไรเพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรือประมาณ 2 พันล้าน ภาษีการโอนมรดกร้อยละ 5 ของมูลค่า รวมๆแล้วคาดว่าจะได้ภาษีจากคนต่างด้าวที่เข้ามาซื้ออสังหาในบ้านเราปีละประมาณ 1.3 หมื่นล้าน เฉพาะที่ จ.ภูเก็ต ประเมินว่าภาษีจากการนี้ทั่วประเทศจะอยู่ที่ 1.35 แสนล้านต่อปี

ที่ผ่านมามีทั้ง นอมินี ตัวแทนต่างด้าว ที่เข้ามาลงทุนอสังหาในไทยอยู่แล้วโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว การที่จะให้ต่างด้าวเข้ามามีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดโดยตรง เป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่ต้องมีมาตรการที่ควบคุมคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศด้วยเนื่องจากในรายละเอียดจะมีผลกระทบกับธุรกิจโรงแรมและการให้เช่าที่พักของคนไทย

ในต่างประเทศมีมาตรการมากมาย เช่น กำหนดราคาขั้นต่ำที่จะให้ต่างชาติซื้อได้ต้องมีราคา 10 ล้านขึ้นไป มาเลเซียกำหนดไว้ 16 ล้าน อินโดนีเซียกำหนดไว้ 10 ล้าน ออสเตรเลียกำหนดให้ซื้อได้แต่บ้านมือหนึ่ง หรือจะขายต่อได้ต่อเมื่อผ่าน 3 ปีไปแล้ว หรือ สามารถกู้เงินจากสถาบันในประเทศได้แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาบ้าน เป็นต้น

กันไว้ดีกว่าแก้ และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน.

หมัดเหล็ก

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ