“อนุทิน” แจงแก้กฎหมายให้ต่างชาติซื้อคอนโด 75% อยู่ระหว่างกรมที่ดินยังพิจารณาอยู่ ยืนยันมีมาตรการควบคุมไม่ให้คนไทยตกเป็นพลเมืองชั้น 2 ป้องขณะที่นายกฯ-ภูมิธรรม สั่งการไม่เอื้อนายทุน ด้าน “จุลพันธ์” อย่าเพิ่งตื่นตูมแก้กฎหมายเช่าที่ดิน 99 ปี เป็นเพียงข้อเสนอให้ศึกษา ไม่หวั่นก้าวไกลฟ้อง“ดิจิทัลวอลเล็ต”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีมีข้อวิพากษ์ วิจารณ์การแก้กฎหมายให้ต่างด้าวเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี มีสิทธิซื้อคอนโดมิเนียมเพิ่มจากเดิมไม่เกิน 49% ของโครงการเป็น 75% ว่า กรมที่ดินกำลังไปพิจารณาร่างกฎหมายอยู่ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้สั่งการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และวันนี้เข้า ครม. ไม่ทัน ส่วนจะเดินหน้าเรื่องนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เป็นมติ ครม.แต่ต้องไปดูข้อสั่งการให้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ปัจจัยด้านบวก ปัจจัยลบของกรมที่ดินที่กำลังไปพิจารณา
เมื่อถามว่าการแก้กฎหมายสัดส่วนการถือครองคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติจะทำให้สิทธิของคนไทยลดน้อยลงกลายเป็นพลเมืองชั้นสองหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีข้อในการกระทำที่เป็นการเลี่ยงบาลีอยู่แล้ว ในกฎหมายส่วนใหญ่ต้องเขียนเงื่อนไขต่างๆเอาไว้ ซึ่งตนเองได้แจ้งไปยังอธิบดีกรมที่ดินว่าต้องทำให้ดีที่สุด นำข้อกังวลของประชาชนมาพิจารณา แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องเดินหน้า และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด ขอให้มั่นใจว่าสิทธิประชาชนยังอยู่ และไม่ต้องกังวล เพราะไม่มีใครรู้เรื่องที่ดินมากไปกว่ากรมที่ดิน
“มั่นใจถ้าเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือ ครม. ไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนอยู่แล้ว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะพูดลักษณะนี้ แต่รับรองว่านายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ สั่งการก็ไม่มีเกี่ยวข้องธุรกิจของท่าน”
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การดำเนินเรื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในความคิดที่ต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนมากขึ้น และไม่ได้เป็นการให้สิทธิขาดกับต่างชาติแต่อย่างใด โดยปัจจุบันสิทธิของการเช่าอยู่ที่ 30 ปี และในกรณีพื้นที่พิเศษขยายเป็น 50+50 ปี ซึ่งการดำเนินการแก้กฎหมายเป็นการเปิดช่องจูงใจให้ต่างชาติเข้ามามากขึ้น ซึ่งข้อเสนอการมีสิทธิเช่าที่ดิน 99 ปี จะต้องให้หน่วยงานที่ข้อเกี่ยวข้องทำข้อเสนอมาก่อน ส่วนสิทธิ เช่น คอนโดมิเนียมนั้น ได้มีการเพิ่มสัดส่วนเรื่องการถือครอง แต่ไม่ได้มอบสิทธิการออกเสียงของนิติบุคคล ฉะนั้น จึงมองว่าไม่น่ามีผลกระทบต่อสิทธิสภาพบนพื้นดินของเรา
“ตอนนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอให้ศึกษา ต้องรอฟังว่ากระทรวงมหาดไทยที่รับโจทย์ไปแล้ว และไปดูผลกระทบอย่างรอบด้าน และจะกลับมารายงานข้อสรุปในที่ประชุม ครม.ส่วนมองว่าเป็นนโยบายขายชาตินั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่ พื้นที่สิทธิสภาพ และสิทธิอาณาเขตของไทยไม่ได้หายไป เป็นเพียงการปรับเงื่อนไขการถือครองให้เกิดแรงจูงใจ ไม่ใช่ว่าต่างชาติเข้ามาถือครองแล้วจะเปลี่ยนจากคอนโดมิเนียมไปเป็นโรงแรม หรือเปลี่ยนเป็นอาคารประเภทอื่น”
ทั้งนี้ ประเทศไทยในปัจจุบัน มีการกระตุ้นการลงทุน การจ้างงานภายในประเทศในระดับที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะดึงต่างชาติเข้ามาบางส่วนก็เป็นประโยชน์ และไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงานของคนไทย ซึ่งต้องการสร้างให้ประเทศ ไทยเป็นพื้นที่ระดับโลก มีการดึงดูดนักท่องเที่ยว คนต่างประเทศที่มีสกิลจำเพาะเพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยเปิดรับการลงทุน เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ เซมิคอน ดักเตอร์ เป็นต้น
ส่วนปัญหาที่มองว่าหากต่างชาติเข้ามาซื้อมากขึ้น อาจส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นนั้น มองว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องราคาแพงหรือไม่ แต่ปัญหา คือ เริ่มมีอาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ทำให้กำลังซื้อลดลง ฉะนั้น กลไกการแก้กฎหมายดังกล่าว นอกจากจะช่วยกระตุ้นแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องสินเชื่อ เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าไปถือครองได้
ขณะที่กรณีพรรคก้าวไกลขู่จะฟ้องศาลปกครองถึงการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่มีความกังวลเรื่องดังกล่าว เนื่องจากดำเนินการไปตามข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณางบประมาณปี 68 ซึ่งมีข้อสงสัยว่าพรรคก้าวไกลจะฟ้องในประเด็นอะไร โดยเบื้องต้นเข้าใจว่าพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมองว่าทำให้การขาดดุลเพิ่มเติม แต่รัฐบาลได้แจ้งที่ประชุมสภาผู้แทนฯ และเวทีต่างๆว่า กลไกทางด้านงบประมาณของภาครัฐไม่ได้อ่อนแอ ยังมีกลไกรองรับไม่ว่ากรณีใดๆที่สามารถผลักดันให้เดินหน้าประเทศไปได้อย่างราบรื่น.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่