กองทุนน้ำมันติดลบ 1.1 แสนล้าน ฟันธง กบง.ตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีต่อ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กองทุนน้ำมันติดลบ 1.1 แสนล้าน ฟันธง กบง.ตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีต่อ

Date Time: 24 มิ.ย. 2567 06:20 น.

Summary

  • ลุ้น กบง.สัปดาห์นี้ ตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีต่อ ที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน หลังจะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 30 มิ.ย.นี้ แม้กองทุนน้ำมันจะติดลบแล้ว 1.1 แสนล้าน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สัปดาห์นี้ที่ประชุม กบง.จะมีการพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาจำหน่ายที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่า กบง.จะมีมติต่ออายุมาตรการออกไปอีก ด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีแอลพีจีเข้ามาอุดหนุน เพื่อพยุงราคาไว้ เพราะหากเลิกอุดหนุนราคาจะส่งผลให้ต้องปรับราคาขึ้นตามกลไกตลาดโลก

สำหรับเงินกองทุนน้ำมันที่จะใช้อุดหนุนราคา ล่าสุด คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาแอลพีจีเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท (จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินไว้ 48,000 ล้านบาท) ส่งผลให้กรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคาปัจจุบันรวมเป็น 50,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กองทุนน้ำมันได้อุดหนุนราคาไปแล้ว 47,615 ล้านบาท และเหลือเงินอุดหนุนราคาได้อีกเพียง 2,385 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันกองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีแอลพีจีใช้ชดเชยราคาขายปลีกอยู่ที่ 4.74 บาทต่อ กก. เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 25.87 บาทต่อ กก. หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. ทำให้กองทุนน้ำมันมีเงินไหลออกจากการชดเชยราคา แอลพีจี 50.76 ล้านบาทต่อวัน หรือ 1,522 ล้านบาท ต่อเดือน ขณะที่ราคาแอลพีจีในตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูงที่เฉลี่ย 582.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

ทั้งนี้ การตรึงราคาแอลพีจีที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก.ดังกล่าว กบง.ได้เริ่มตรึงราคามาตั้งแต่เดือน มี.ค.66 รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วและย้อนไปช่วงเดือน มี.ค.67 กบง.ได้มีมติให้ตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถัง เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย.นี้ โดยให้กองทุนน้ำมันชดเชยราคาเฉพาะเดือน เม.ย. ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย.จะของบกลางจากรัฐบาลมาชดเชยราคาแทน แต่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคาตามเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันดูแลเอง ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบกลางมาช่วยตรึงราคาแต่อย่างใด จึงส่งผลให้เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กบน.ต้องมีมติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อใช้ชดเชยราคาเป็น 50,000 ล้านบาทดังกล่าว

ล่าสุด ฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 16 มิ.ย.67 ติดลบรวม 110,711 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,096 ล้านบาท บัญชีแอลพีจีติดลบ 47,615 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันจะต้องเร่งดำเนินการให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้กู้เงินกับสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท เมื่อปี 65-66 และจะเริ่มครบกำหนดต้องจ่ายคืนเงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 30,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ย.นี้ โดยเริ่มจากกรณีที่ กบน.ได้พยายามปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระการชดเชยราคาลง โดยมีการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลรวมไปแล้ว 6 ครั้ง รวมราคา 3 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาลดการชดเชยราคาแอลพีจีให้ลดลง แต่เมื่อ ครม. ไม่อนุมัติเงินมาช่วย จึงทำให้กองทุนน้ำมันยังต้องดึงเงินในกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาต่อไปก่อน แม้ตัวเลขการติดลบของกองทุนน้ำมันจะเพิ่มขึ้นก็ตาม.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ