คงมีเหตุผลไม่กี่เรื่อง ที่คนส่วนใหญ่ ยอมพาตัวเองเข้าสู่วังวนการเป็น “หนี้บัตรเครดิต” และวงการ “จ่ายขั้นต่ำ” แต่หากยัง รูดเพลิน เกินตัว ไม่เร่งปรับวินัยการทางเงิน และวางแผนการใช้จ่ายรายเดือนที่เหมาะสม ปลายทางเราอาจได้เห็น “หนี้เสีย” ในระบบของประเทศไทยเพิ่มขึ้น และสะเทือนถึงทิศทางธุรกิจบัตรเครดิต และเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของบัตรเครดิตก็มีมาก และเป็นประโยชน์สำหรับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะในยุคที่การพกเงินสดมีบทบาทน้อยลง และเราสามารถซื้อสินค้าได้ โดยไม่ต้องใช้เงินก้อน ใช้จ่ายได้ทั่วโลก สะดวกและจำเป็นในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
ThairathMoney เจาะสถานการณ์ การใช้จ่ายบัตรเครดิตของคนไทย ในรอบ 3 เดือนแรก ของปี 2567 อ้างอิงข้อมูล จาก บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ และแนวโน้มธุรกิจของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์
พบว่า ปัจจุบัน ธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Bank) และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) โดยจำนวนบัญชีบัตรเครดิตล่าสุด ในเดือน มี.ค. 2567 พบว่า ...
ทั้งนี้ จากข้อมูลจะพบว่า ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่ม Bank จะสูง กว่ากลุ่ม Non-bank ราว 2 เท่า สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่ม Bank อยู่ที่ 0.44 ล้านล้านบาท ในขณะที่ ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่ม Non-bank อยู่ที่ราว 0.25 ล้านล้านบาท
แต่ประเด็นที่น่าสนใจ กลับพบว่า ยอดหนี้เสีย หรือ หนี้ NPL ลูกค้าบัตรเครดิต ของ Bank มีแนวโน้มสูงขึ้น ภายหลังจากการปรับยอดอัตรา การชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 5% เพิ่มขึ้นเป็น 8% ของยอดเงิน ตามใบแจ้งยอดบัญชี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ยอด NPL กลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตของ Bank สูงขึ้น 42.34% (เทียบกับปี 66)
ภายใต้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวม มีทั้งสิ้น 314 ล้านธุรกรรม เพิ่มขึ้น 10.8% ทั้งการใช้บัตรผ่านเครื่องรูดบัตร และการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตออนไลน์ โดย Visa เป็นเครือข่ายที่นิยมใช้มากที่สุด รองลงมา คือ Mastercard และ American Express ตามลำดับ
"คาดว่า ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยผ่านบัตรเครดิตต่อบัญชี จะเติบโตและกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งแตะระดับประมาณ 80,000 บาทต่อบัญชี ต่อปี"
ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ชี้ว่า ตัวเร่งสำคัญเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากผู้บริโภคมีความนิยมใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะการชำระเงินผ่าน Mobile banking รวมไปถึงอานิสงส์จาก ธุรกิจ E-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับ ผู้นำตลาด ยังคงเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ข้อมูลปี 2565 ธนาคารกสิกรไทยยังคงครองสัดส่วนสูงที่สุด อยู่ที่ 21.7% รองลงมา คือ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด ครองสัดส่วนอยู่ที่ 20.1% และ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (CardX) ครองสัดส่วนอยู่ที่ 14.3%
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบัตรเครดิต ยังคงเผชิญกับความท้าทายจาก ปัจจัยด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ลดลงตาม ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น การตั้งสำรอง เพื่อรองรับ “หนี้เสีย” อีกทั้งยังต้องติดตามผลกระทบ หลังในปี 2568 จะมีการปรับยอดอัตราการชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 8% เพิ่มขึ้น เป็น 10% ตามเกณฑ์ของ ธปท. ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่ยอด NPL จะสูงขึ้นไปอีก
ที่มา : บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ LH BANK
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney